สกัดสายพันธุ์อินเดีย สั่งชะลอ 3 ชาติเข้าไทย
การสกัดกั้นโควิด-19 สายพันธุ์อินเดีย สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เผยแพร่ข้อมูล ระบุว่า ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ชี้แจงเพิ่มเติมว่า เพื่อปรับข้อบังคับให้เป็นไปตามสถานการณ์และเพื่อควบคุมสกัดกั้นเชื้อโควิด-19 จากอินเดีย ศปก.ศบค.อนุมัติการชะลอการเดินทางเข้าประเทศไทยจากประเทศต้นทาง คือ อินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ รวมทั้งเพิ่มมาตรการการกักตัวเป็น 21 วัน อีกด้วย
กรณีชาวอินเดีย จำนวน 7 คน ที่เข้ารับการรักษาตัวอยู่ เดินทางเข้าประเทศไทยโดยสายการบินพาณิชย์ เมื่อวันที่ 17 เม.ย.64 สายการบินอินเดียแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ AI 0332 ตามข้อกำหนดอนุญาต (บุคคล 11 กลุ่ม) เช่น นักลงทุน นักธุรกิจ มีครอบครัวไทย มีใบอนุญาตทำงาน และเข้ามารักษาพยาบาล (กรณีไม่ใช่โรคโควิด-19) เป็นต้น โดยในเที่ยวบินดังกล่าว มีผู้โดยสารทั้งสิ้นจำนวน 149 คน เป็นคนอินเดีย คนไทย และสัญชาติอื่นๆ จึงไม่ใช่เครื่องเช่าเหมาลำ ขณะนี้ทั้งหมดยังอยู่ในช่วงกักกันโรค และกำลังอยู่ในช่วงการตรวจหาเชื้อเป็นระยะๆ เพื่อไม่ให้ผู้ติดเชื้อเล็ดลอดออกไปได้ สำหรับ 7 คน ข้างต้น เมื่อเดินทางมาถึงไทย ตรวจพบเชื้อจึงส่งเข้ารักษาที่โรงพยาบาล ตามมาตรการที่กำหนดไว้
สธ.เผยยังมีคนไทยจากอินเดียเดินทางเข้า จึงยังไม่ชะลอเที่ยวบิน
ก่อนหน้านี้ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้มีข้อเสนอไปยังศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หรือ ศบค.ชุดเล็ก และประสานไปยังกระทรวงการต่างประเทศว่า ช่วงนี้อยากให้ชะลอการออกหนังสือเดินทางเข้าประเทศในคนที่มาจากอินเดียให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ แต่ยังไม่มีการชะลอในส่วนของเที่ยวบิน เนื่องจากยังมีคนไทยบางส่วนที่ยังต้องเดินทางเข้ามาได้ เนื่องจากมีคนไทยบางส่วนมีความประสงค์จะเดินทางกลับมาช่วงต้นเดือน พ.ค.64 รวมถึงไม่ให้กระทบต่อการส่งเวชภัณฑ์ เนื่องจาก อินเดียยังเป็นประเทศที่ส่งยา วัคซีน และเวชภัณฑ์ ซึ่งประเทศไทยอาจจำเป็นต้องใช้
เตรียมเสนอ ศปก.ศบค.ปรับโซนสีจังหวัด-ทาร์เก็ตล็อกดาวน์
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากการวิเคราะห์การติดเชื้อโควิด-19 แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
-กรุงเทพฯ ผู้ติดเชื้อจำนวนมาก มีปัญหาเรื่องเตียง จึงได้มีการพูดคุยถึงปัญหาและแนวทางแก้ปัญหาทุกภาคส่วน ทั้งกทม. ภาคเอกชน กระทรวงสาธารณสุข โรงเรียนแพทย์ กองทัพ ฯลฯ โดยพยายามปรับวิธีการต่างๆ
-ภูมิภาค การระบาดจะเป็นลักษณะสะเก็ดไฟ มีคลัสเตอร์บ้าง แต่ควบคุมได้ ปลัดสธ. ระบุว่า ปัญหาหลักอยู่ที่กรุงเทพฯ เกิดจากกระบวนการบริหารจัดการ -จำนวนเตียงที่รองรับผู้ป่วยหนัก อาจมีข้อจำกัด แต่ขณะนี้ยังมีเพียงพอ เพียงแต่หากการติดเชื้อรุนแรงขึ้น เตียงผู้ป่วยหนักจะรองรับได้ 1-2 สัปดาห์จากนี้ไป
-ผู้ป่วยปานกลาง กรมการแพทย์ มีมาตรการในการลดเวลาอยู่ในโรงพยาบาล ลงในรายที่มีอาการน้อย หรือไม่มีอาการให้เหลือ 10 วัน น่าจะทำให้การหมุนเตียงคล่องตัวขึ้น
การเพิ่มมาตรการควบคุมโรค เป็นเรื่องสำคัญ ศปค.สธ.จะเสนอให้เพิ่มมาตรการขึ้นด้วยการปรับระดับสีของจังหวัดจากเดิมแดงและส้ม ตอนนี้จะปรับเป็น 3 สี คือ แดงเข้ม แดง และส้ม
-แดงเข้ม ต้องควบคุมสูงสุดเป็นกรณีพิเศษ และจะขอให้คณะกรรมการโรคติดต่อระดับจังหวัดปรับมาตรการการ ที่เรียกว่า ทาร์เก็ต ล็อกดาวน์ เกี่ยวกับห้ามกิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวกับการรวมกลุ่มจำนวนมาก ซึ่งทางจังหวัดจะพิจารณาดำเนินการ ส่วนมาตรการระดับประเทศก็จะคงไว้อีก 2 สัปดาห์ ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวจะนำเข้าสู่การพิจารณาของ ศปก.ศบค. ก่อนเข้าสู่คณะใหญ่ต่อไป
สธ.เร่งนำผู้ป่วยที่ผ่านจุดคัดกรอง 3 แห่ง เข้ารพ.
การปรับการทำงานส่งต่อผู้ป่วยตกค้างให้รวดเร็วมากขึ้น นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล มีจำนวนเพิ่มขึ้นและพบผู้ติดเชื้อตกค้าง 2,554 คน ยังไม่มีเตียง กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับภาครัฐ เอกชน และกรุงเทพฯ ปรับระบบโดยรวบรวมข้อมูลจากสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง(สปคม.), สายด่วนเฉพาะกิจ กรมการแพทย์ 1668 และสายด่วน สปสช.1330 ทำให้เป็นฐานข้อมูลเดียวกัน ทวนเช็คและโทรหาผู้ป่วยทุกรายเพื่อลดความซ้ำซ้อน และรับส่งมาที่จุดคัดกรอง 3 จุด ได้แก่
-สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี
-โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน
-Hopsitel ของกรมการแพทย์
นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวว่า การรับผู้ป่วยมาที่ 3 จุด เพื่อคัดกรอง ประเมินตามเกณฑ์และรับเข้าสู่สถานพยาบาลที่กำหนด โดยแบ่งผู้ป่วยเป็นระดับสี 3 สีคือ
-สีเขียว สำหรับผู้ที่มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการให้นอนโรงพยาบาลสนามหรือ Hospitel
-สีเหลือง จะส่งต่อไปยังโรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนตามที่กำหนดไว้
-สีแดง มีรถพยาบาลจากสายด่วนศูนย์เอราวัณ 1669 ไปรับและนำเข้ารักษาในโรงพยาบาลทันที
การคัดกรองและนำเข้าระบบจะดำเนินการภายในวันนี้จนครบทุกราย ซึ่งขณะนี้มีผู้ติดเชื้อเข้าสู่การรักษาในโรงพยาบาลแล้ว 1,039 คน รอเข้ารับการรักษา 814 คน รวมแล้วครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยที่รอโรงพยาบาล ในส่วนที่เหลือพบว่ามีผลเป็นลบ มีการปฏิเสธการเข้ารับการรักษาเนื่องจากกักตัวครบ 14 วัน และบางรายมีข้อมูลซ้ำซ้อน
กทม. เพิ่มรถ เพิ่มรอบรับ-ส่งผู้ป่วยโควิด 50 เขต
สำนักเทศกิจและสำนักงานเขต 50 เขต ของกรุงเทพมหานคร(กทม.) จัดเตรียมรถสำหรับรับ-ส่งผู้ป่วย เพื่อเป็นกำลังสนับสนุนให้แก่รถพยาบาลของศูนย์เอราวัณ อย่างน้อยเขตละ 1 คัน ออกปฏิบัติหน้าที่ตามที่ศูนย์เอราวัณประสานงาน โดยไม่จำกัดจำนวนรอบการรับ-ส่ง เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 22 เม.ย.64 เป็นต้นมา ทยอยรับผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
กองทัพ เพิ่ม จนท.และยานพาหนะอีก 20 คัน
กระทรวงกลาโหม ตั้งศูนย์สนับสนุนการเคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่กรมยุทธบริการทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย เป็นหน่วยประสานสนับสนุนการทำงานให้กับศูนย์เอราวัณ ของ กทม. และ ศปก.ศบค.เพื่อรับผู้ป่วยในพื้นที่ต่างๆเข้ารับการรักษา มีการเตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่และยานพาหนะ เพิ่มเติมอีก 20 คัน รวมเป็น 51 คัน เพื่อเสริมการทำงานให้เพียงพอพร้อมปฏิบัติงานตั้งแต่เมื่อวานนี้ (25 เม.ย.64) นอกจากนี้มีการอบรมเจ้าหน้าที่ให้ปฏิบัติงานด้วยความระมัดระวังและไม่ประมาท เป็นไปตามมาตรการป้องกันและการขนย้ายผู้ป่วยตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
ดำเนินคดีแม่-ลูก ติดเชื้อ จงใจฝ่าฝืนคำสั่ง ตามพ.ร.บ.โรคติดต่อและคำสั่งของ จ.สระแก้ว
หลังจากที่เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมตัว แม่ ลูก ที่ติดเชื้อโควิด-19 และหนีจาก จ.สระแก้ว มาหลบอยู่ที่บ้านหลังหนึ่งในพื้นที่หมู่ 10 ต.สาริกา จ.นครนายก พร้อมทั้งลูกเขย เป็นคนพาหลบหนี โดยใช้รถกระบะ ยี่ห้ออีซูซุ สีบรอนซ์ เป็นยานพาหนะในการหลบหนี
เจ้าหน้าที่ สอบถาม นางวรนุช กิ่งแก้ว อายุ 51 ปี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 10 ต.สาริกา ให้การว่า ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ลงพื้นที่เก็บค่าน้ำ และบังเอิญมาเจอรถกระบะที่มีลักษณะคล้ายรถกระบะที่ปรากฏในข่าวว่ามีผู้ป่วยติดโควิด-19 หลบหนีมาจาก จ.สระแก้ว จอดอยู่ในหมู่บ้าน จึงได้มารายงานให้ทราบ จากนั้นตนได้เข้าไปตรวจสอบพบว่า รถกระบะคันดังกล่าวมีความผิดปกติคือถอดป้ายทะเบียนออก เบื้องต้น ทราบว่าผู้ป่วยและเจ้าของบ้านที่รถเข้าไปจอดอยู่นั้นรู้จักกัน
จากการตรวจสอบทั้งสามคนคือ ผู้ต้องหาที่ถูกแจ้งความ คนขับชื่อ นายพรรณุวัฒน์ ขันทะโคตร อายุ 23 ปี และอีกสองคนที่เป็นแม่ ลูก คือ น.ส.กมลวรรณ ลุ่มมณี อายุ 46 ปี และ น.ส.กมลชนก วิชาฉิม อายุ 26 ปี ควบคุมตัวเดินทางกลับไปที่ จ.สระแก้ว โดยจะส่งตัวทั้ง 3 คน ไปยังโรงพยาบาลสนาม จ.สระแก้ว
เมื่อแม่ลูกได้รับแจ้งว่าติดเชื้อและต้องเข้าสู่กระบวนการรักษาตัวแต่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถติดต่อได้ ปลัดอำเภอเมืองสระแก้วฝ่ายความมั่นคง แจ้งความที่ สภ.สระแก้ว เมื่อวันที่ 23 เม.ย.64 พนักงานสอบสวน ดำเนินคดีข้อหา "จงใจฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงาน ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 และคำสั่งจังหวัดสระแก้วที่ 982/2564 เรื่องมาตรการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ฉบับที่ 32 " เพื่อดำเนินคดีทางกฎหมาย