กระทรวงสาธารณสุข เร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้บุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศ กลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ระบาด และจังหวัดท่องเที่ยว เพื่อเดินหน้าระบบเศรษฐกิจประเทศ นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยความคืบหน้าของการฉีดวัคซีนโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 22 เมษายน 2564 มีการฉีดวัคซีนไปแล้ว 964,825 โดส โดยเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 834,082 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 130,743 ราย
เฉพาะวันที่ 22 เมษายน ฉีดได้ 99,985 โดส เป็นเข็มที่ 1 จำนวน 87,465 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 12,520 ราย
บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 แล้ว 413,117 คน เข็มที่ 2 จำนวน 60,489 คน หรือประมาณ ร้อยละ 90 โดยจะเร่งฉีดให้บุคลากรส่วนที่ยังตกค้างในคลินิกให้แล้วเสร็จภายในสัปดาห์หน้า เพื่อให้เกิดความครอบคลุม รวมทั้งกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ระบาด และจังหวัดท่องเที่ยว ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีมีนโยบายให้จังหวัดท่องเที่ยวได้รับการฉีดวัคซีนเร็วขึ้น เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวและระบบเศรษฐกิจประเทศเดินหน้าต่อได้ เช่น จังหวัดภูเก็ต ได้รับการฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรเป้าหมายแล้วเกือบทั้งจังหวัด
ส่วนที่มีข้อเสนอให้เอกชนร่วมจัดหาวัคซีน เมื่อวันอังคาร (20 เม.ย.) มีการประชุมคณะทำงานพิจารณาแนวทางการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมของประเทศไทย โดยมีทั้งภาครัฐ เอกชน สภาหอการค้า และสภาอุตสาหกรรมร่วมประชุม ได้ข้อสรุปให้ขยายการฉีดวัคซีนให้มีความครอบคลุมมากขึ้นจากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะฉีด 70 ล้านโดส จะเพิ่มให้ได้ 100 ล้านโดส ขณะนี้มีวัคซีน 65 ล้านโดส จะต้องจัดหาอีก 35 ล้านโดส โดยมี 3 แนวทางคือ
1.ให้ภาครัฐ โดยกระทรวงสาธารณสุข และองค์การเภสัชกรรม ไปจัดซื้อเพิ่มเติม ขณะนี้ได้เจรจาไปแล้วหลายบริษัท
2.ภาคเอกชน โดยสภาหอการค้า ยินดีบริจาคเงินให้รัฐบาลซื้อวัคซีน ฉีดให้กลุ่มเป้าหมาย เช่น แรงงานในโรงงาน 10 ล้านโดส
3.โรงพยาบาลเอกชนขอจัดซื้อเอง เพื่อฉีดให้ผู้รับบริการของโรงพยาบาลเอกชน เช่น ผู้ที่มีโรคประจำตัว
การฉีดวัคซีนอยู่ภายใต้กติกาเดียวกัน คือ
1.มีระบบการฉีดและดูแลความปลอดภัย ตาม 8 ขั้นตอนที่กรมควบคุมโรคกำหนด
2.ระบบรายงานเชื่อมต่อกัน
3.มีการติดตามอาการหลังการฉีดวัคซีน
...