สถาบันวิจัยคลาลิต (Clalit Research Institute) ในอิสราเอลเปิดเผยรายงานที่บ่งชี้ว่า วัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่พัฒนาโดยไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทคมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคที่มีอาการและอาการรุนแรงในผู้ป่วยเรื้อรัง จากการรวบรวมข้อมูลวิจัยกลุ่มผู้ที่ได้รับวัคซีนของไฟเซอร์เกือบ 1,200,000 คน ซึ่งนับเป็นการรวบรวมข้อมูลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก พบว่า
วัคซีนป้องกันการติดเชื้อตามอาการของผู้ป่วยโรคหัวใจหรือไตเรื้อรังร้อยละ 80
ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ร้อยละ 86 (คือ ผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะดื้อต่ออินซูลิน)
โรคหลอดเลือดในสมอง ร้อยละ 75
โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง ร้อยละ 84
นอกจากนี้ การวิจัยแสดงให้เห็นว่า สามารถป้องกันการติดเชื้อตามอาการได้ร้อยละ 88 และสามารถป้องกันการเจ็บป่วยที่รุนแรงหากผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วมีผลตรวจยืนยันว่าติดเชื้อในภายหลัง
นายแรน บาลิเซอร์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายนวัตกรรมของคลาลิต กล่าวว่า ในกลุ่มผู้เข้ารับวัคซีนแล้วมีอยู่ประมาณ 130,000 คนที่มีโรคเรื้อรัง ซึ่งแม้ว่าการป้องกันจะลดลงเล็กน้อยในผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรังหลายโรค แต่การวิจัยนี้จะช่วยสร้างความมั่นใจว่าผู้สูงอายุและผู้ป่วยเรื้อรังควรได้รับการฉีดวัคซีน
อิสราเอลเริ่มดำเนินโครงการวัคซีนโควิดตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม ทำให้จนถึงขณะนี้มากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากร 9,300,000 คนได้รับการฉีดวัคซีนครบแล้ว จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ช่วงสูงสุดเมื่อกลางเดือนมกราคม ซึ่งนายบาลิเซอร์กล่าวว่าอิสราเอลยังไม่อยู่ในเกณฑ์ของการสร้างภูมิคุ้มกันกลุ่ม แต่การที่มีผู้ติดเชื้อลดลงคือการพิสูจน์ถึงศักยภาพของการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนจำนวนมาก และความหวังที่จะพาทุกคนออกจากอันตราย
ทั้งพบว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพร้อยละ 92 ในการป้องกันอาการในกลุ่มผู้ที่มีอายุมากกว่า 70 ปี
ร้อยละ 96 สำหรับผู้ที่มีน้ำหนักเกิน
ร้อยละ 93 สำหรับผู้ที่เป็นโรคอ้วน
และร้อยละ 90 สำหรับผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง
..