นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดประจำวันที่ 22 เมษายน 2564
1.ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,470 คน แบ่งเป็น
- จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯ 1,370 คน
- จากการคัดกรองเชิงรุกในชุมชน 100 คน
- จากผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานกักกัน 0 คน
2.ยอดผู้ป่วยสะสม 48,113 คน
3.ผู้หายป่วยสะสม 29,848 คน
4.เสียชีวิตเพิ่ม 7 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 117 ราย
สำหรับรายละเอียดของผู้เสียชีวิต เป็นดังนี้
- รายที่ 111 หญิงไทย อายุ 24 ปี อาชีพค้าขาย อยู่ที่จังหวัดพัทลุง มีโรคประจำตัว โรคอ้วน มีประวัติไปสถานบันเทิง เมื่อวันที่ 7 เม.ย.64 ซึ่งสถานบันเทิงแห่งนั้นมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 / จากนั้นวันที่ 16 เม.ย.64 ไปตรวจหาเชื้อ เริ่มมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ / วันที่ 17 เม.ย.64 ผลตรวจพบเชื้อและมีปอดอักเสบ หายใจเหนื่อย / วันที่ 19 เม.ย.64 ออกซิเจนในเลือดต่ำลง มีภาวะปอดอักเสบรุนแรง และเสียชีวิตในวันที่ 20 เม.ย.64
- รายที่ 112 หญิงไทย อายุ 68 ปี อาชีพดูแลเด็ก อยู่ที่จังหวัดสระบุรี มีโรคประจำตัวภูมิแพ้ มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้า เมื่อวันที่ 5 เม.ย.64 / วันที่ 12 เม.ย.64 เริ่มมีอาการไข้ ไอ / วันที่ 19 เม.ย.64 เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล มีอาการหายใจลำบาก มีเสมหะ ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ และระบบหายใจล้มเหลว ผลตรวจพบเชื้อและเสียชีวิตในวันที่ 20 เม.ย.64
- รายที่ 113 ชายไทย อายุ 83 ปี อยู่ กทม. มีโรคประจำตัวความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง วันที่ 17 มี.ค.64 มีไข้สูง ไอแห้ง มีน้ำมูก อ่อนเพลีย / วันที่ 22 มี.ค.64 ไปรักษาที่คลินิกเอกชน / วันที่ 23 มี.ค.64 ไปรับการตรวจคัดกรองเชิงรุกจากหน่วยรถพระราชทาน ทราบผลตรวจวันรุ่งขึ้นว่าติดเชื้อ / วันที่ 25 เม.ย.64 เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล / วันที่ 31 มี.ค.64 เหนื่อยมากขึ้น ใส่ท่อช่วยหายใจ ต่อมาอาการทรุดลงและเสียชีวิตวันที่ 20 เม.ย.64
- รายที่ 114 หญิงไทย อายุ 80 ปี เป็นผู้ป่วยติดเตียง อยู่จังหวัดนครปฐม มีโรคประจำตัวเบาหวาน เมื่อวันที่ 13-15 เม.ย.64 ญาติเดินทางจาก กทม.มาเยี่ยม / วันที่ 16 เม.ย.64 อาเจียนเป็นเลือด ญาตินำส่งโรงพยาบาล ตรวจพบเชื้อโควิด-19 ต่อมาอาการไม่ดีขึ้น และเสียชีวิตในวันที่ 17 เม.ย.64
- รายที่ 115 ชายไทย อายุ 45 ปี อาชีพพนักงานขับรถ อยู่ กทม. มีโรคประจำตัวความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้า วันที่ 9 เม.ย.64 มีไข้ ไอ เหนื่อย / วันที่ 17 เม.ย.64 ไข้สูง 40 องศา ไอ มีเสมหะ หนาวสั่น กินได้น้อยลง จึงไปตรวจที่โรงพยาบาลและรับยากลับบ้าน / วันที่ 19 เม.ย.64 เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลด้วยอาการหายใจเหนื่อย ตรวจหาเชื้อพบว่าติดเชื้อ มีปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจและเสียชีวิตในวันที่ 20 เม.ย.64
- รายที่ 116 ชายไทย อายุ 59 ปี อาชีพพนักงานรัฐวิสาหกิจ อยู่ กทม. มีโรคประจำตัวเบาหวาน มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้า วันที่ 14 เม.ย.64 มีอาการไอ / วันที่ 20 เม.ย.64 เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ด้วยอาการไอ หายใจลำบาก ใส่ท่อช่วยหายใจ ผลตรวจพบเชื้อและเสียชีวิตในวันเดียวกัน
- รายที่ 117 ชายไทย อายุ 86 ปี อาชีพรับจ้าง อยู่ กทม. มีโรคประจำตัวเป็นโรคหัวใจ มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้า เมื่อวันที่ 5 เม.ย.64 / วันที่ 16 เม.ย.64 ผลตรวจพบเชื้อ ไอแห้ง อ่อนเพลีย / วันที่ 18 เม.ย.64 เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล / วันที่ 20 เม.ย.64 มีอาการเหนื่อยหอบ ไข้สูง ค่าออกซิเจนในเลือดต่ำ อาการแย่ลง และเสียชีวิตในวันที่ 21 เม.ย.64
ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก มีการวิเคราะห์ข้อมูลผู้เสียชีวิตจากการระบาดทั้ง 3 ระลอก พบว่า ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ มีประวัติติดเชื้อเชื่อมโยงจากสถานบันเทิง บ่อน สนามมวย รองลงมาคือแหล่งชุมชน ตลาด และการติดเชื้อในครอบครัว กลุ่มผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ยังเป็นกลุ่มที่เสียชีวิตมากที่สุด แม้ว่าการระบาดรอบหลังๆ จะมีผู้ป่วยที่อายุน้อยเสียชีวิตเพิ่มเติม และที่สำคัญคือ ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ จะมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดัน โรคหลอดเลือดสมอง โรคไต จึงเป็นบทเรียนให้เพิ่มความระมัดระวัง โดยเฉพาะการนำเชื้อจากข้างนอกไปติดคนในบ้าน