นพ.ยง เผยอาจมีภูมิต้านทานอื่นเสริมวัคซีนเชื้อตาย ช่วยป้องกันโควิด-19 อย่างมีประสิทธิภาพ

21 เมษายน 2564, 09:09น.


          ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขียนบทความในเพจเฟซบุ๊ก เกี่ยวกับโรคโควิด-19 กับระบบภูมิต้านทาน  โดยระบุว่า ไวรัสโควิด-19 เป็นไวรัสอาร์เอ็นเอ (RNA virus) ที่มีขนาดใหญ่  มีการสร้างโปรตีนหลายชนิด  ทั้งที่เป็นโปรตีนโครงสร้างและโปรตีนที่มาทำหน้าที่ให้ไวรัสคงอยู่และแพร่พันธุ์ได้



          ในการศึกษามีการพูดถึงโปรตีนที่เป็นหนามแหลม คือ spike โปรตีน เพราะไวรัสจะนำส่วนนี้มาจับกับเซลล์ของมนุษย์  ดังนั้นการพัฒนาวัคซีนจึงมุ่งเน้นที่จะสร้างภูมิต้านทานของร่างกายให้เกิดขึ้น  เพื่อป้องกันไม่ให้ส่วนหนามแหลมมาเกาะกับเซลล์มนุษย์ได้  ก็จะทำให้ไม่ติดเชื้อ  ซึ่งในกรณีที่มีการติดเชื้อ การตอบสนองของระบบภูมิต้านทาน จะเกิดขึ้น ไม่เฉพาะกับส่วนหนามแหลมเท่านั้น  แต่จะมีภูมิต้านทาน หรือ antibody ต่อส่วนอื่นๆของไวรัสในส่วนโครงสร้างและโปรตีนอื่นๆอีกด้วย   ซึ่งส่วนโครงสร้างที่สำคัญอื่นๆ ก็คือ โปรตีนที่ทำหน้าที่ยึดเกาะของ RNA กับเปลือกของตัวไวรัสที่เรียกว่า นิวคลีโอแคปซิด  (nucleocapsid) และยังมีโปรตีนในส่วนผิวไวรัสอีก    



          สำหรับวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ชนิด mRNA หรือไวรัสเวคเตอร์  จะสอดใส่สารพันธุกรรมส่วนหนามแหลมเท่านั้น จะไม่มีโปรตีนส่วนอื่นของไวรัสเลย  การตรวจวัดภูมิต้านทาน จึงตรวจวัดเฉพาะในส่วนของภูมิต้านทานต่อหนามแหลมเท่านั้น  ขณะที่วัคซีนชนิดเชื้อตาย จะใช้ไวรัสทั้งตัว ดังนั้น ส่วนของแอนติเจนที่จะไปกระตุ้นภูมิต้านทานของร่างกายเรา  จะมีหลายชนิดที่อยู่ในส่วนประกอบของตัวไวรัส



          ศ.นพ.ยง ระบุว่า บทบาทในการสร้างภูมิต้านทานต่อส่วนอื่นๆของตัวไวรัส ในปัจจุบันยังไม่ทราบว่าจะมีประโยชน์หรือไม่ในการป้องกันโรค โดยเฉพาะภูมิต้านทานต่อ นิวคลีโอแคปซิดและโปรตีนแอนติเจนชนิดอื่นๆ  บทบาทของภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นจากวัคซีนเชื้อตาย จึงเป็นที่น่าสนใจมาก



          จากการศึกษาในประเทศชิลีและบราซิล พบว่า ประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโควิด-19 ของวัคซีนเชื้อตาย ต่อสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์ P1 ไม่ได้ลดลง  จึงเป็นที่น่าสนใจว่า อาจจะมีภูมิต้านทานส่วนอื่นเข้ามาเสริมในการป้องกัน แทนส่วนของหนามแหลมที่มีการกลายพันธุ์ จึงจำเป็นที่จะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม

ข่าวทั้งหมด

X