ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า ความรู้เกี่ยวกับโรคโควิด-19 มีการปรับเปลี่ยนตามกาลเวลา ก่อนหน้านี้ มักมีการแนะนำให้ผู้ที่เป็นโรคระบบทางเดินหายใจ สวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ มากกว่าจะแนะนำให้คนที่ไม่ป่วยใส่ แต่ปัจจุบันเป็นที่ทราบแน่ชัดว่า เมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 ทุกคนไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วย หรือไม่ป่วย ก็ต้องสวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันโรคร่วมกัน ลดการแพร่กระจายของเชื้อ
ความรู้เกี่ยวกับการแพร่กระจายของโควิด-19 เดิมระบุว่า มีการแพร่กระจายเป็นทางละอองฝอย แต่หลังจากมีการระบาดในรูปแบบ superspreading โดยเฉพาะในที่ปิดทึบ อากาศถ่ายเทไม่ดี หรือมีรายงานการระบาดในโบสถ์ที่มีการร้องเพลง ทำให้เข้าใจว่าการแพร่กระจายของโรค สามารถผ่านไปทางอากาศได้ (airborne) อย่างเช่นในสถานบันเทิง มาตรการในการป้องกันจึงจำเป็นที่จะต้องเข้มงวดแบบการแพร่กระจายในอากาศ ดังนั้นการอยู่ในอาคารจึงจำเป็นอย่างมากที่จะต้องสวมหน้ากากอนามัย
ส่วนเรื่องของการกลายพันธุ์ ในระยะแรกดูเหมือนว่าการกลายพันธุ์ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับไข้หวัดใหญ่ โดยเมื่อไวรัสแพร่ออกจากประเทศจีน ก็เริ่มมีการกลายพันธุ์มาตลอด โดยสายพันธุ์ G แพร่กระจายได้รวดเร็วและกระจายไปทั่วโลก กลบสายพันธุ์อื่น แต่ต่อมาพบว่ามีการกลายพันธุ์อีกหลายสายพันธุ์ ที่ทำให้แพร่กระจายได้รวดเร็วและหลบหลีกภูมิต้านทานได้ อย่างสายพันธุ์อังกฤษแพร่กระจายได้เร็วกว่าสายพันธุ์ G เดิม ซึ่งต่อไป ก็คงจะกระจายทั่วโลก และเพิ่มอัตราการติดโรคได้มากขึ้น อย่างที่เห็นในประเทศไทย
นอกจากนี้ ในปัจจุบันก็มีหลักฐานค่อนข้างชัดเจนว่า โรคนี้เมื่อหายแล้วยังมีโอกาสเป็นได้อีกเมื่อภูมิต้านทานตกต่ำลง หรือไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรม ดังนั้นในทำนองเดียวกันการให้วัคซีนเพื่อสร้างภูมิต้านทาน ประสิทธิภาพในการป้องกันจึงไม่ 100% เมื่อให้แล้วก็ยังเป็นโรคได้ แต่มีความหวังว่าการให้วัคซีน จะทำให้ความรุนแรงของโรคลดลง
ส่วนภูมิคุ้มกันกลุ่มนั้น เคยคาดหวังกันไว้ว่าจะได้ผลดีก็ต่อเมื่อโรคนั้นเป็นแล้วโอกาสกลับมาเป็นซ้ำน้อยมาก เช่น โรคหัด สุกใส แต่สำหรับโควิด-19 ความหวังของภูมิคุ้มกันกลุ่ม อาจจะต้องมากกว่าที่คิด เพราะให้วัคซีนแล้วก็ยังมีโอกาสที่ติดเชื้อและแพร่กระจายโรคได้ แต่อาการน้อยลง อัตราในการให้วัคซีนอาจจะต้องมากกว่าตัวเลขที่คำนวณแบบโรคหัด (R0)
ศ.นพ.ยง ย้ำว่า ความรู้เกี่ยวกับโควิด-19 ในปัจจุบัน ก็ถูกต้องสำหรับขณะนี้ แต่ในอนาคตเมื่อมีองค์ความรู้ใหม่ๆ ก็อาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโควิด-19 ตามไปด้วย และสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา