อธิบดีกรมการแพทย์ ย้ำ ไม่มีนโยบายให้ผู้ป่วยโควิด-19 รักษาตัวที่บ้าน เร่งขยายเตียงรองรับ

19 เมษายน 2564, 16:11น.


          กรณีมีกระแสข่าวว่า จะมีการพิจารณาให้ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการไม่มาก พักรักษาตัวอยู่ที่บ้าน (Home Isolation) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์  กล่าวว่า เป็นเพียงแนวคิดที่เตรียมไว้ กรณีมีผู้ป่วยจำนวนมากนับหมื่นรายขึ้นไป ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นที่จะนำแนวคิดนี้มาใช้ เพราะจำนวนตัวเลขผู้ป่วยมีแนวโน้มลดลง ส่วนแนวทางที่เตรียมไว้  จะพิจารณาจาก



1.ต้องเป็นผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ



2.เป็นผู้ติดเชื้อที่อายุไม่เกิน 40 ปี



3.มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง



4.มีผู้อยู่ร่วมบ้านไม่เกิน 1 คน



5.ไม่มีภาวะอ้วน



6.ไม่มีโรคร่วม เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง  โรคไตเรื้อรัง  โรคหัวใจและหลอดเลือด  โรคหลอดเลือดสมอง  เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้  



7.ต้องยินยอมแยกตัวในที่พักของตัวเอง



          โดยแพทย์จะทำการรักษาผ่านเทเลมอนิเตอร์ เพื่อสื่อสารกับผู้ป่วย ติดตามอาการและเป็นช่องทางติดต่อกรณีฉุกเฉิน แต่เนื่องจากขณะนี้นโยบายของภาครัฐยังยืนยันว่า ผู้ป่วยทุกรายจะต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลภายใต้การดูแลจากบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น จึงนำข้อปฏิบัติบางส่วนมาใช้สำหรับผู้ป่วยที่กำลังรอประสานเตียงในโรงพยาบาล  



          สำหรับปัญหาที่ผู้ติดเชื้อหลายราย ยังหาเตียงไม่ได้ เพราะจำนวนเตียงไม่เพียงพอกับจำนวนผู้ป่วยนั้น อธิบดีกรมการแพทย์  ยืนยันว่า ขณะนี้มีเตียงรองรับผู้ป่วยถึง 9,317 เตียง และกำลังขยายเตียงเพิ่มขึ้น ส่วนสาเหตุที่ผู้ป่วยบางราย ไม่ได้เข้าโรงพยาบาล เนื่องจาก มีหลายคนไปตรวจหาเชื้อที่แล็บเอกชน ซึ่งไม่มีโรงพยาบาล เมื่อพบว่า ติดเชื้อ ก็ไม่สามารถแอดมิทได้  เช่นเดียวกับการไปตรวจเชิงรุก ที่จะต้องรอผลตรวจที่บ้าน เมื่อพบว่าติดเชื้อ ก็ต้องรอการประสานขอรถพยาบาลไปรับ ซึ่งตามนโยบายระบุว่า โรงพยาบาลและแล็บของเอกชนที่ตรวจผู้ป่วยติดเชื้อ จะต้องประสานเครือข่ายในการรับผู้ติดเชื้อทุกรายเข้ารักษา



           ส่วนแนวทางการบริหารจัดการเตียง มีหลักคือ



1.ผู้ป่วยจากการค้นหาเชิงรุก กรณีที่มีความรุนแรงสีเขียว คือไม่มีอาการมาก ให้กรุงเทพมหานครรับไว้ในโรงพยาบาลสนาม



2.กรณีไปตรวจหาเชื้อจากโรงพยาบาลและแล็บเอกชนทุกที่ ถ้าระดับความรุนแรงสีเขียวจะรับไว้ในHospital  แต่ถ้ามีอาการมากหรืออยู่ในระดับเหลือง-แดง จะรับไว้ในโรงพยาบาล 

3.ให้โรงพยาบาลทุกสังกัดให้สำรองห้องไอซียู โดยกรมการแพทย์เป็นหน่วยบริหารจัดการ

4.ส่วนภูมิภาคและปริมณฑล อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข



          ส่วนรถรับผู้ป่วยติดเชื้อไปโรงพยาบาล ขณะนี้มีรถนำส่งจำนวน 50 คัน จาก 3 บริษัท และจะเพิ่มเป็น 100 คันทั่วประเทศ สำหรับรับผู้ป่วยโควิด-19 โดยเฉพาะ





           ด้าน นพ.สุขสันต์  กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ขณะนี้มีโรงพยาบาลสนามในกรุงเทพฯ สำหรับรองรับผู้ป่วยจากการค้นหาเชิงรุก 1,656 เตียง  มีการใช้งานรับผู้ป่วยไปแล้ว 1,275 เตียง และยังเหลืออีกกว่า 300 เตียง รวมทั้งจะมีการจัดฮอสพิเทล และขยายเตียงโรงพยาบาลสนามเพิ่มเติม  ซึ่งในขณะนี้มีผู้ป่วยที่ตกค้างที่บ้าน 505 เตียง  ซึ่งจะเร่งบริหารจัดการการรับผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด





          ด้าน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ  เปิดเผยว่า ขณะนี้มีการอนุมัติให้โรงพยาบาลเอกชนสามารถขยายเตียงได้เพิ่มเติม เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ระดับสีเหลืองและสีแดง  และยังเตรียมดัดแปลงสถานที่กักตัวแบบทางเลือก ซึ่งเป็นโรงแรมต่างๆ มาเป็นฮอสพิเทล ซึ่งมีโรงพยาบาลเอกชนร่วมกับโรงแรมสมัครเป็นฮอสพิเทลและผ่านการรับรองแล้ว 34 แห่ง กว่า 7,000 เตียง มีผู้ป่วยเข้าพักแล้วประมาณ 2,000 คน ซึ่งเป็นผู้ป่วยแบบไม่มีอาการ



          ส่วนผู้ป่วยที่ไปตรวจคลินิกแล็บเอกชนและทราบผลว่าติดเชื้อ แล็บเอกชนนั้นๆ  จะต้องเป็นผู้ประสานผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาล ซึ่งมีประกาศกระทรวงสาธารณสุขบังคับใช้ หากแล็บใดไม่ประสานผู้ป่วยส่งต่อโรงพยาบาล ถือว่าแล็บแห่งนั้นมีความผิดตามกฎหมาย โดยวันที่ 20 เม.ย.64 จะมีการประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับคลินิกแล็บเอกชนต่างๆ เพื่อวางแนวทางให้ชัดเจน และแล็บที่จะตรวจหาเชื้อโควิด-19 จะต้องมี MOU กับโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อส่งต่อผู้ป่วยได้

ข่าวทั้งหมด

X