หลัง ศบค.ตัดสินใจไม่ล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เชื่อว่า สาเหตุที่ผลการประชุมของ ศบค. ไม่ประกาศล็อกดาวน์พื้นที่ แต่เลือกใช้วิธีคุมกิจกรรมต่างๆ เนื่องจากเห็นว่า เศรษฐกิจบอบช้ำมากพอแล้ว จึงเลือกใช้วิธีสมดุลระหว่างการดูแลเศรษฐกิจ และการป้องกันดูแลรักษาโรคควบคู่กันไป หากประเมินในมุมสถิติ ผลกระทบจากมาตรการของ ศบค.ที่ออกมา จะกระทบกับมูลค่าการใช้จ่ายผู้บริโภคในระยะเวลา 3 เดือน หรือเม.ย.-มิ.ย. ประมาณ 3-4.5 แสนล้านบาท หรือเดือนละ 1-1.5 แสนล้านบาท ส่งผลต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพีประมาณร้อยละ 2
แต่ไตรมาส 2 (เม.ย.-มิ.ย.) คาดว่า จะมีเม็ดเงินจากโครงการรัฐบาลมาเพิ่ม เช่น คนละครึ่ง เฟส 3 หรืออาจเป็นช้อปดีมีคืน อีก 2.5 แสนล้านบาท รวมทั้งจะมีรายได้จากส่งออก และภาคท่องเที่ยวที่ค่อยๆ ฟื้น จึงคาดว่า ทั้งปีจีดีพีจะโตในกรอบใกล้เคียงเดิมร้อยละ2-3และอยากให้รัฐบาลวางกรอบการกู้เงินในไตรมาส 3 (ก.ค.-ก.ย.) ไว้อีก 5 แสน-1 ล้านล้านบาท เผื่อไว้ฉุกเฉิน หากจำเป็นต้องใช้มาฟื้นฟูเศรษฐกิจต่อไป