ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้ 19.30 น.ประจำวันพฤหัสบดีที่ 15 เมษายน 2564

15 เมษายน 2564, 18:57น.


ความเคลื่อนไหวเมืองไทย19.30 น.ประจำวันพฤหัสบดีที่ 15 เมษายน 2564



พระสงฆ์วัดเทพศิรินทร์ฯ ติดโควิด 2 รูป



          กระแสข่าวพระลูกวัดและลูกศิษย์วัดเทพศิรินทราวาสติดโควิดเนื่องจากพระบวชใหม่ไปเที่ยวผับทองหล่อแล้วมาบวช นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้สั่งการไปยังสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ตรวจสอบ แล้วพบว่า พระลูกวัดและลูกศิษย์วัดดังกล่าวเป็นพระบวชใหม่ และก่อนบวชมีพระบางรูปเดินทางไปเที่ยวสถานบันเทิงย่านทองหล่อมาก่อน จึงทำให้เกิดการระบาดภายในวัด ได้สั่งการให้ พศ. ประสานไปทุกวัดให้พ่นยาฆ่าเชื้อในบริเวณวัด โดยเฉพาะพระอารามหลวง วัดท่องเที่ยว และสถานที่ภายในวัดที่มีประชาชนเข้าไปกราบไหว้สักการะอย่างเนืองแน่น และกำชับเข้มงวดให้พระบวชใหม่ทุกรูป ต้องมีผลการตรวจโควิด-19 ยืนยันก่อนจึงให้บวชได้ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในศาสนสถาน



          นายสิปป์บวร แก้วงาม ผู้ตรวจราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ในฐานะโฆษก พศ. กล่าวว่า จากการสอบถามไปยังวัดเทพศิรินทร์ ได้รับการยืนยันว่า มีพระพี่เลี้ยง 1 รูป และพระบวชใหม่ 1 รูป ติดโควิด-19 จริง และได้มีการนำตัวส่งรักษาที่โรงพยาบาลแล้ว ส่วนสาเหตุในการติดโควิด-19 นั้น ทางวัดไม่ได้แจ้งว่าพระทั้งสองรูปดังกล่าวติดมาจากที่ใด ขณะนี้ วัดเทพศิรินทร์ได้ทำความสะอาดสถานที่ทั้งหมดแล้ว



สมุทรสงคราม ปิด 2 สถานที่ หลังพบคนติดเชื้อโควิด-19



          นายชรัส บุญณสะ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม ลงนามสั่งปิด 2 สถานที่ ตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสงครามเสนอ หลังพบผู้ติดเชื้อที่โรงแรมชูชัยบุรี ศรีอัมพวา และที่สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาสมุทรสงคราม  ทั้ง 2 แห่งจะปิดทำการ เป็นเวลา 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 14 – 27 เมษายน หากผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนี้ ถือเป็นความผิดตามมาตรา 52 ของ พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ



นนทบุรีพบติดเชื้อโควิด-19 อีก 94 คน



         ศูนย์ปฏิบัติการโควิด-19 จังหวัดนนทบุรี รายงานสรุปย่อ พบผู้ป่วยยืนยันใหม่จำนวน 94 คน ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับสถานบันเทิง โดยแบ่งเป็นเพศหญิง 48 คนเพศชาย 46 คน โดยผู้ติดเชื้อแบ่งตามภูมิลำเนา ดังต่อไปนี้ อำเภอปากเกร็ด 31 คน อำเภอเมืองนนทบุรี 30 คน อำเภอบางบัวทอง 17คน อำเภอบางใหญ่ 9 คน อำเภอบางกรวย 5 คน อำเภอไทรน้อย 2 คน มีอาการ 77 คน (81%) ไม่มีอาการ 17 คน(19%)



ความสัมพันธ์



1.สัมผัสกับผู้ป่วยยืนยัน ซึ่งเป็นผู้ป่วยก่อนหน้า จำนวน 64 ราย (เกือบทุกรายเกี่ยวข้องกับสถานบันเทิง)  (68%)



2.สถานบันเทิง กทม.โดยตรง 19 ราย (20%)



3. งานเลี้ยง Resort อ.ไทรน้อย 2 ราย



4. The Moon Bar 1 ราย



5. ไม่ทราบชัดเจน 8 ราย



ศบค.ชุดใหญ่เคาะ ล็อกดาวน์หรือไม่



         นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงกระแสข่าวการล็อกดาวน์ หลังพบการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดในประเทศเพิ่มขึ้นระดับหลักพันคนต่อวันว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ประเมินสถานการณ์เป็นรายวัน และเมื่อเห็นแนวโน้มการติดเชื้อที่เพิ่มสูงมากขึ้น จะมีการเสนอมาตรการจากผู้เชี่ยวชาญ โดยเป็นมาตรการหนัก-เบา ไปตามแต่ละพื้นที่ที่มีสถานการณ์ที่แตกต่างกัน ซึ่งในรายละเอียดจะได้นำเข้าสู่การพิจารณาของกรรมการวิชาการ ในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ก่อนจะนำมติที่ได้ไปเสนอต่อที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค.ชุดใหญ่ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในวันที่ 16 เม.ย.ต่อไป



          แนวโน้มยังพบการรายงานผู้ติดเชื้อโควิดในประเทศเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สัมผัสภายในครอบครัวและผู้สัมผัสใกล้ชิดอื่นๆ ที่เชื่อมโยงกับผู้ติดเชื้อที่มาจากการรวมกลุ่มกันของคนจำนวนมาก เช่น สถานบันเทิง งานเลี้ยงสังสรรค์ การประชุมสัมมนา หรือการออกค่ายของนักศึกษา เป็นต้น ดังนั้นเพื่อลดความเสี่ยงของการแพร่ระบาดที่จะเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์ มาตรการที่ควรปฏิบัติคือการให้ทำงานจากที่บ้าน (Work from Home) เพราะหากยังมีการไปพบปะกันในสถานที่ทำงาน จะยิ่งมีโอกาสเสี่ยงในการกระจายเชื้อต่อกันได้ รวมทั้งต้องมีการติดตามดูแลผู้สัมผัสเสี่ยงสูงให้กักตัวครบตามกำหนด 14 วันด้วย



นายกฯเรียกประชุมศบค.ชุดใหญ่ รับมือระบาดรอบใหม่



          หลังจากที่มีการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ระรอกเดือนเมษายน ทำให้มีผู้ติดเชื้อในประเทศไทยขยายวงกว้างอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งขณะนี้ประชาชนเริ่มทยอยเดินทางกลับจากภูมิลำเนาหลังเทศกาลสงกรานต์ ทำให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีความกังวล จะเกิดการแพร่ระบาดต่อเนื่องได้มีการพูดคุยและหารือกับกระทรวงสาธารณสุขและ ศบค. เตรียมกำหนดมาตรการเข้มงวดและประกาศใช้โดยเร่งด่วน ทั้งนี้ในเวลา 13.30 น. วันที่ 16 เมษายน 2564 นี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้เรียกประชุม คณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ครั้งที่ 5/2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล (Video Conference) ที่ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล



          สำหรับการประชุม วาระแรกเป็นการรับรองรายงานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ครั้งที่ 4/2564 จากนั้นศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด – 19 กระทรวงสาธารณสุขรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดและผู้ติดเชื้อ



          โดยศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด – 19 สภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) เสนอการยกระดับมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อโควิด – 19 ในการระบาดระลอกเมษายน 2564  และแผนการให้บริการวัคซีน โควิด – 19 ของศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข  กรณีโรคติดเชื้อ โควิด – 19 ของกระทรวงสาธารณสุข



          ในที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ เตรียมออกประกาศและคำสั่งที่เกี่ยวข้อง อาทิ การประกาศ เรื่อง การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 11) ,ประกาศ  เรื่อง การให้ประกาศที่คณะรัฐมนตรีกำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินยังคงมีผลใช้บังคับ , การประกาศ เรื่องการให้ข้อกำหนด ประกาศ และคำสั่งที่นายกรัฐมนตรีกำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินยังคงมีผลใช้บังคับ นอกจากนี้ ยังมีคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด – 19 ที่ 4/2564 เรื่อง  แนวปฏิบัติตามข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ในช่วงท้าย การประชุมกองบัญชาการกองทัพไทย เสนอแนะแนวทาง การป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด – 19 ตามแนวชายแดน



ผู้ว่ากทม.แนะนำกลับจากต่างจังหวัดเข้ากรุง ประเมินความเสี่ยงผ่านระบบคัดกรอง



          พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. เปิดเผยว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กทม.มีความห่วงใยประชาชนที่เดินทางกลับจากจังหวัดต่าง ๆ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2564 จึงขอความร่วมมือประชาชนผู้เดินทางไปจังหวัดพื้นที่เสี่ยง ให้ประเมินความเสี่ยงด้วยตนเองผ่านระบบคัดกรอง BKK COVID 19 ที่ เว็บไซด์ BKK COVID 19 https://bkkcovid19.bangkok.go.th/ ซึ่งเป็นระบบที่กทม.จัดทำขึ้นเพื่อบันทึกข้อมูล ผู้ที่จะเดินทางเข้าพื้นที่กรุงเทพฯ โดยรวบรวมเฉพาะข้อมูลที่จำเป็น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการสืบสวนโรคของเจ้าหน้าที่เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด ประชาชนสามารถใช้งานได้ง่ายขึ้นและใช้เวลาในการกรอกข้อมูลไม่นาน



         โดยมีขั้นตอนง่ายๆ เพียง 2 ขั้นตอน ได้แก่ การสแกน QR CODE จากนั้นกรอกแบบฟอร์มข้อมูลส่วนบุคคล อาทิ ชื่อ นามสกุล หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน เบอร์โทรศัพท์มือถือ ระบุเพศ และสัญชาติ จากนั้นกรอกข้อมูลการเดินทาง อาทิ เดินทางมาจากจังหวัดใด เดินทางเข้ากรุงเทพมหานครหรือผ่านไปจังหวัดอื่น ในกรณีเดินทางเข้ากทม. ระบุการเดินทางเที่ยวเดียวหรือไปกลับ ระบุเขตและวันเดินทางกลับ พร้อมเหตุผลความจำเป็น จากนั้นแสดงข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ที่ด่านคัดกรอง เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการ ซึ่งหากระบบแจ้งว่าเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงต่ำ ขอแนะนำให้สังเกตตัวเองอย่างน้อย 14 วัน เพื่อเฝ้าดูอาการ หากระบบแจ้งว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง กทม.จะจัดเจ้าหน้าที่ติดต่อไปโดยเร็วที่สุดเพื่อสอบสวนอาการ รวมถึงส่งเจ้าหน้าที่ไป SWAB



นิกเกอิยังบวกได้ ท่ามกลางกระแสยกเลิกโอลิมปิก



         ดัชนีนิกเกอิ ตลาดหุ้นโตเกียวปิดปรับตัวขึ้นเล็กน้อยในวันนี้ ขณะที่นักลงทุนรอบรรดาบริษัทญี่ปุ่นรายใหญ่เปิดเผยรายงานผลประกอบการไตรมาสแรกของปีนี้ แต่ตลาดแทบไม่ได้รับผลกระทบจากรายงานข่าวที่ว่า เจ้าหน้าที่ระดับสูงของพรรครัฐบาลญี่ปุ่นระบุว่า อาจยกเลิกการแข่งขันกีฬาโตเกียวโอลิมปิก เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยังคงเพิ่มขึ้นในประเทศ ดัชนีนิกเกอิ ปิดตลาดที่ระดับ 29,642.69 จุด เพิ่มขึ้น 21.70 จุด



          ดัชนีฮั่งเส็งตลาดหุ้นฮ่องกงปิดลบในวันนี้ ตามทิศทางตลาดหุ้นจีนซึ่งปิดลดลงในวันนี้ท่ามกลางความวิตกว่า รัฐบาลจีนจะคุมเข้มนโยบายการเงินหลังจากที่มีการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่นักลงทุนจับตาจีนเปิดเผย GDP ไตรมาสแรกของปีนี้ในวันพรุ่งนี้ ดัชนีฮั่งเส็งปิดตลาดวันนี้ที่ 28,793.14 จุด ลดลง 107.69 จุด



เดนมาร์กชาติแรกของโลกที่หยุดใช้วัคซีนโควิด-19 ของแอสตราเซเนกา



          เดนมาร์ก กลายเป็นชาติแรกของโลกที่หยุดใช้วัคซีนโควิด-19 ของแอสตราเซเนกาโดยสิ้นเชิง จากความกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่มันจะเชื่อมโยงกับภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่พบน้อยมากแต่มีความรุนแรง การตัดสินใจดังกล่าวจะทำให้โครงการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของเดนมาร์ก แล้วเสร็จล่าช้ากว่าเดิม จากเดิมที่กำหนดไว้ในวันที่ 25 กรกฎาคม เป็นช่วงต้นเดือนสิงหาคม จากการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข โซเรน โบรสตรอม ผู้อำนวยการสำนักงานสุขภาพของนอร์เวย์ แถลงว่า “ผลการสืบสวนลิ่มเลือดที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนแอสตราเซเนกา แสดงให้เห็นถึงผลข้างเคียงรุนแรงอย่างแท้จริง เฉพาะฉะนั้นเราจึงเลือกเดินหน้าโครงการวัคซีนต่อไปโดยไม่ใช้วัคซีนแอสตราเซเนกา



          แอสตราเซเนกา ระบุว่าเคารพการตัดสินใจของเดนมาร์ก และจะยังคงมอบข้อมูลแก่เดนมาร์กเพิ่มเติมสำหรับการตัดสินใจต่างๆ นานาในอนาคต “การใช้และแจกจ่ายวัคซีนในโครงการฉีดวัคซีน เป็นเรื่องที่แต่ละประเทศจะเป็นผู้ตัดสินใจ บนพื้นฐานของเงื่อนไขต่างๆ นานาของแต่ละท้องถิ่น



ญี่ปุ่นคาดเชื้อไวรัสกลายพันธุ์จากอังกฤษเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในญี่ปุ่น



          สถาบันโรคติดเชื้อแห่งชาติของญี่ปุ่นเปิดเผยว่าจากผลตรวจ DNA ของเชื้อไวรัสโควิด-19 นักวิจัยญี่ปุ่นคาดว่าเชื้อไวรัส ชนิดกลายพันธุ์จากอังกฤษจะเป็นสายพันธุ์หลักหรือมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 80 ของคนไข้ทั้งหมดในกรุงโตเกียวและเขตปริมณฑล ภายในต้นเดือนพฤษภาคมนี้ เชื้อไวรัสชนิดกลายพันธุ์จากอังกฤษหรือสายพันธุ์ N501Y ซึ่งพบระบาดครั้งแรกในอังกฤษในปีที่แล้วแพร่บาดเร็วกว่าเชื้อไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิม 1.32 เท่าในแง่ของจำนวนคนที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จากผู้ป่วยเฉลี่ยหนึ่งคน เจ้าหน้าที่สาธารณสุขญี่ปุ่นคาดว่า ตัวเลขคนไข้ในกรุงโตเกียวและเขตปริมณฑลเพิ่มขึ้นตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม สัดส่วนตัวเลขผู้ป่วยจากเชื้อไวรัสชนิดกลายพันธุ์จากอังกฤษซึ่งอยู่ในอัตราร้อยละ 10 เมื่อต้นเดือนเมษายนจะเพิ่มเป็นร้อยละ 80-90 ภายในต้นเดือนพฤษภาคม



          ส่วนในจังหวัดโอซากาและสองจังหวัดใกล้เคียง ตัวเลขผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่เดือนกุมภาพันธุ์คาดว่าเชื้อไวรัสกลายพันธุ์จากอังกฤษจะเป็นสายพันธุ์หลักเกือบร้อยละ 100 ภายในปลายเดือนหน้า



          ในปัจจุบัน ญี่ปุ่นมีผู้ป่วยสะสม 512,169 คน เสียชีวิต 9,469 ราย



กลายพันธุ์จากบราซิล เริ่มแตกหน่อมาเป็นเชื้อไวรัสโคโรนา พันธุ์ใหม่ที่ดื้อยา-ระบาดเร็วกว่าเดิมหลายเท่า



          นายฟิลิเป นาเวกา หนึ่งในทีมวิจัยของสถาบันฟิโอครูซ เมืองมาเนาส์ ในแถบลุ่มน้ำแอมะซอน บราซิลเปิดเผยว่า เชื้อไวรัสโควิด-19 ชนิดกลายพันธุ์จากบราซิล หรือสายพันธุ์P1 ซึ่งพบระบาดครั้งแรกในเมืองมาเนาส์ในปีที่แล้ว ทำให้ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ในบราซิลเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งนานาชาติเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด



          เริ่มแตกหน่อมาเป็นเชื้อไวรัสพันธุ์ใหม่แยกย่อยได้อีก 14 ชนิด รวมถึงสายพันธุ์ E484K ที่อาจจะหลบเลี่ยงสารภูมิต้านทานในร่างกายของคนเราหรือแม้กระทั่งอาจจะดื้อยาหรือลดทอนประสิทธิภาพของวัคซีนที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน นับว่า เป็นเรื่องที่น่ากังวลใจอย่างยิ่งสำหรับนักวิทยาศาสตร์บราซิลและทั่วโลกเนื่องจากเชื้อไวรัสที่แตกหน่อมาจากเชื้อไวรัสชนิดกลายพันธุ์สายพันธ์ P1 ยังคงแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว



          โดยผลศึกษาของสถาบันวิจัยหลายแห่งของบราซิลบ่งชี้ว่าเชื้อไวรัสสายพันธุ์ P1 แพร่ระบาดเร็วกว่าเชื้อไวรัสดั้งเดิมกว่า 2.5 เท่า อีกทั้งสามารถทำลายระบบภูมิต้านทานในร่างกายของคนเรามากกว่าเชื้อไวรัสชนิดดั้งเดิม



          ก่อนหน้านี้ ฝรั่งเศสมีคำสั่งเมื่อวันอังคาร ห้ามเครื่องบินโดยสารทั้งหมดจากบราซิลเข้ามายังฝรั่งเศส เพื่อสกัดเชื้อไวรัสชนิดกลายพันธุ์จากบราซิล ทำให้บราซิล ซึ่ง ขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในแถบลาตินอเมริกาเริ่มถูกโดดเดี่ยวจากประชาคมระหว่างประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบัน บราซิลมีผู้ป่วยสะสม 13,677,564 คน เสียชีวิต 362,180 ราย

ข่าวทั้งหมด

X