สปคม.รับตรวจหาเชื้อกลุ่มเสี่ยง และ รับปชช.ที่ walk in 1,200 คน
สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค (สปคม.คร.) วันที่ 15 เม.ย.64 ระบุว่า วันนี้รถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยพระราชทาน ให้บริการตรวจคัดกรองผู้สัมผัสผู้ป่วยยืนยันโรคโควิด-19 คัดกรองกลุ่มเสี่ยง ประชาชนในพื้นที่เสี่ยง รับ walk in จำนวน 1,200 คน ที่สำนักงานสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค เขตบางเขน กรุงเทพ
เริ่มแจกบัตรคิว 7.00 น.
คิวที่ 1-700 เริ่ม SWABรอบเช้า เวลา 8.30-12.00 น.
คิวที่ 701-1200 เริ่ม SWABรอบบ่าย เวลา 13.00 – 15.00 น.
6 ขั้นตอนการรับบริการโดยรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยพระราชทาน
1.รับบัตรคิวที่หน้างานจุดตรวจที่ระบุในประกาศเท่านั้น
2.สแกนคิวอาร์โค้ด เพื่อลงทะเบียน และกรอกข้อมูลในใบยินยอมตรวจ
3.เพื่อประโยชน์ของผู้ตรวจหาเชื้อขอให้ตรวจสอบข้อมูลส่วนบุคคลให้ถูกต้องก่อนบันทึกลงทะเบียน
4.เขียนรหัส 4 หลักที่ได้จากการลงทะเบียนสำเร็จในใบยินยอมตรวจด้านบน และรอเจ้าหน้าที่เรียกตามคิว เพื่อรับหลอดเก็บเชื้อ
5.รับการ swab ที่รถพระราชทาน
6.กลับบ้าน รอผลตรวจที่บ้าน
การรอผลตรวจ จะทราบภายใน 1-2 วัน กรณีผลตรวจยังไม่ออก ให้แจ้งชื่อ นามสกุล เลขบัตรประจำตัวประชาชน เบอร์โทร สถานที่ตรวจและวันที่ได้รับการตรวจเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบให้ได้ที่ Inbox Fanpage สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค
CR:สปคม.กรมควบคุมโรค
สธ.ยันเตียงผู้ป่วยโควิด -19 ยังว่าง แต่บางส่วนเป็นไอซียู รับเฉพาะผู้ป่วยอาการหนัก
นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ชี้แจงเรื่องการบริหารจัดการเตียงรองรับผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ว่า ในภาพรวมของเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล
-สำรองเตียงแล้วทั้งหมด 6,185 เตียง
-ใช้ไป 3,460 เตียง
-เหลือเตียงว่าง 2,725 เตียง แยกเป็น
1.เฉพาะเตียงในโรงพยาบาลทั้งหมด 4,703 เตียง ครองเตียง 2,958 เตียงว่าง 1,745 เตียง ในส่วนของกรมการแพทย์ 159 เตียง กรมควบคุมโรค 0 เตียง กรมสุขภาพจิต 45 เตียง กระทรวงกลาโหม 58 เตียง กรุงเทพมหานคร (กทม.) 304 เตียง รพ.ตำรวจ 0 เตียง โรงเรียนแพทย์ 181 เตียง และโรงพยาบาลเอกชน 1,000 เตียง
2.รพ.สนาม และฮอสปิเทล ทั้งหมด 1,482 เตียง ครองเตียง 502 เตียง ว่าง 980 เตียง อย่างไรก็ตาม มีการจัดหาฮอสปิเทลเพิ่มได้อีก 2,385 เตียง ซึ่งว่างอีก 1,416 เตียง และขยายเตียงในภาครัฐเพิ่มขึ้นอีกด้วย
นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวว่า ผู้ติดเชื้อทุกรายทั้งคนไทยและคนที่อยู่ในผืนแผ่นดินไทยจะต้องได้รับการเข้านอนรักษาในโรงพยาบาลเท่านั้น
ส่วนที่มีประชาชนส่วนหนึ่งสงสัยว่าเมื่อมีเตียงว่าง แล้วทำไมถึงยังเข้าไปไม่ได้ ขอชี้แจงว่า เป็นเพราะเตียงที่มีอยู่ในระบบนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเตียงสำหรับผู้ป่วยหนัก (ICU) ต้องเตรียมไว้รองรับผู้ป่วยหนัก ขณะที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ ไม่ได้เป็นผู้ป่วยหนัก แต่เป็นผู้ป่วยที่ไม่ค่อยมีอาการ มีไข้เล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ใน 5-7 วัน หรือหลังจากนี้ไปแล้ว อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นคำว่าหนักได้เสมอ จึงจำเป็นต้องใช้เตียงไอซียู
นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวว่า ขอความร่วมมือประชาชนที่เข้ารับการตรวจหาเชื้อและได้รับผลการยืนยันว่าติดเชื้อโควิด-19 ให้อยู่ที่บ้าน แยกตนเองออกจากคนในครอบครัว สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ และรอการประสานจากโรงพยาบาลเพื่อนำเข้าสู่ระบบการรักษา ไม่เดินทางไปโรงพยาบาลเพื่อหาเตียงด้วยตนเอง เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อระหว่างทางไปสู่ผู้อื่น
สำหรับผู้ที่ได้รับการตรวจยืนยันแล้วว่าติดเชื้อโควิด-19 แต่ยังไม่ได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล หรือรอเตียงนานเกินไป ทั่วประเทศสามารถประสานได้ที่ สายด่วน 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ติดต่อเพิ่มที่สายด่วน กรมการแพทย์ (เฉพาะกิจ) 1668 ตั้งแต่เวลา 08.00-22.00 น. สายด่วน สปสช. 1330 หรือทางแอปพลิเคชันไลน์ โดยการเพิ่มเพื่อน @Sabaideebot โดยกรอกข้อมูลเช่น ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ
คนแห่ตรวจโควิด ที่ขอนแก่น ศูนย์กลางทางการแพทย์ เตรียมรพ.สนาม 1,000 เตียง
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น ประชุมหน่วยงานทางการแพทย์ของจังหวัดเพื่อรับมือผู้ที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หลังมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ผู้ติดเชื้อล่าสุดส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่เดินทางกลับภูมิลำเนาในช่วงเทศกาลสงกรานต์ และเกี่ยวข้องกับการเที่ยวผับดังในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
นพ.สมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า ขณะนี้สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ของจังหวัดขอนแก่นมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เพราะประชาชนส่วนใหญ่ได้เดินทางกลับภูมิลำเนามาเยี่ยมครอบครัวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ และได้มาขอตรวจกับโรงพยาบาลในพื้นที่ขอนแก่น เพราะจังหวัดขอนแก่นเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ จนทำให้พบผู้ติดเชื้อมากขึ้น
นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น สั่งให้เตรียมโรงพยาบาลสนามจำนวน 1,000 เตียง ขณะนี้จังหวัดมีความพร้อมแล้ว โดยให้โรงพยาบาลประจำอำเภอเป็นโรงพยาบาลสนาม เบื้องต้นมีปริมาณเตียงรองรับอย่างต่ำ 1,000 เตียง นอกจากนี้ยังเตรียมพื้นที่อาคารอเนกประสงค์ในพุทธมณฑลอีสานที่สามารถรองรับได้อีก 200 เตียง
ลพบุรี เตรียมกองพันเสนารักษ์ที่ 1- อาคาร A03 หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ เป็นรพ.สนาม
นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี ประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดลพบุรี กล่าวว่า ลพบุรีพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยสะสมตั้งแต่วันที่ 3-13 เม.ย.64 จำนวน 31 คนส่วนใหญ่ติดเชื้อมาจากสถานบันเทิงที่มีการแพร่ระบาดและนำเชื้อมาแพร่สู่ครอบครัวและที่ทำงาน ดังนั้น จังหวัดลพบุรีจึงเตรียมความพร้อมเพื่อสร้างโรงพยาบาลสนามขึ้น รองรับผู้ป่วย โควิด ที่มีอาการไม่รุนแรงและรอการกลับบ้าน ซึ่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดลพบุรีมีมติเห็นชอบจัดตั้งสถานที่เป็นโรงพยาบาลสนามจำนวน 2 แห่งคือ
-กองพันเสนารักษ์ที่ 1 จังหวัดลพบุรีสามารถรองรับผู้ป่วยได้จำนวน 56 เตียง
-อาคาร A03 หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษสามารถรองรับผู้ป่วยได้จำนวน 100 เตียง
-สำรองไว้อีก 1 แห่ง คือที่โรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ศูนย์การบินทหารบก สามารถรองรับผู้ป่วยได้จำนวน 150 เตียง
สงขลา ปิดตลาดนัด 3 แห่ง ในเขตเทศบาลนครสงขลา แนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มขึ้น
การควบคุมโควิด-19 ที่ จ.สงขลา มีการประกาศปิดตลาดนัด 3 แห่ง
-ปิดตลาดประชารัฐวันศุกร์ ซึ่งตั้งอยู่หน้าที่ว่าการอำเภอเมืองสงขลา
-ตลาดถนนคนเดิน วงเวียนหอนาฬิกา กำแพงเมืองเก่า ปิดตั้งแต่วันศุกร์ที่ 16 เม.ย.64 เป็นต้นไป
-ตลาดนัดวันอาทิตย์ (เทศบาลนครสงขลา) ปิดตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 18 เม.ย.64 เป็นต้นไป จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น
นพ.อุทิศศักดิ์ หริรัตนกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ในขณะนี้มีจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ เนื่องจากได้มีการเร่งตรวจหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยง ซึ่งได้ดำเนินการต่อเนื่องมาแล้ว 3 วัน ขอให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ ที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสงขลาประกาศออกมาอย่างเคร่งครัด ขณะนี้โรงพยาบาลทุกแห่งก็ได้มีการเพิ่มศักยภาพ เพื่อรองรับผู้ป่วยที่อาจเพิ่มขึ้น
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา รายงาน สถานการณ์ผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่ามี 19 คน แยกเป็น ผู้ป่วยติดเชื้อในประเทศ 17 คน ผู้ป่วยกลับจากต่างประเทศ 2 คน รวมยอดผู้ป่วยระลอกใหม่สะสมระหว่างวันที่ 7- 14 เม.ย.64 จำนวน 57 คน
พังงา ปิดผับ บาร์ ตลาดนัด สนามกีฬา-ร้านอาหารห้ามขายเหล้า นั่งกินได้ถึง 23.00น.
มาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคจังหวัดพังงา ออกบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17-30 เม.ย. 64 มีการปิดสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ ตลาดนัด สนามกีฬา สระว่ายน้ำ ฟิตเนส ร้านเกมส์ สำหรับร้านอาหารให้จำหน่ายได้ถึงเวลา 23.00 น. ห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา กล่าวว่า เตรียมพื้นที่รองรับผู้ป่วยติดเชื้อไว้ที่โรงพยาบาลทั้ง 8 อำเภอ มีห้องความดันลบแต่ละอำเภอ รองรับผู้ติดเชื้อได้มากกว่า 250 คน ส่วนโรงพยาบาลสนามอีกจำนวน 2 แห่ง คือ โรงยิมเนเซียม สนามกีฬากลาง อบจ.พังงา และโรงพยาบาลฐานทัพเรือทับละมุ ต.ลำแก่น อ.ท้ายเหมือง รองรับผู้ป่วยติดเชื้อมากกว่า 200 เตียง
นพ.ประกิจ สาระเทพ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพังงา กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยติดเชื้อจำนวน 8 คน ซึ่งพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลพังงา จำนวน 6 คน โรงพยาบาลตะกั่วป่า 2 คน มีอาการดีขึ้นตามลำดับ ทั้ง 8 คน ไม่พบอาการไข้ และอาการอื่นแทรกซ้อน ส่วนการตรวจเชื้อกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงผลการตรวจไม่พบเชื้อ คาดว่าตัวเลขในกลุ่มที่พบเชื้อน่าจะหยุดอยู่ในจำนวนนี้ แต่ทางเจ้าหน้าที่ไม่ได้ประมาทเตรียมความพร้อมโรงพยาบาลไว้แล้ว