สธ.เสนอ ปิดพื้นที่เสี่ยง-ยกเลิกกิจกรรมเสี่ยง
นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษากระทรวง และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข ได้หารือกันใน 3 ประเด็น ได้แก่
-ประเด็นที่ 1 สถานการณ์ขณะนี้มีแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คาดว่า จะพบมากกว่าวันละ 1,000 คน โดยที่ประชุมเสนอมาตรการสำคัญที่นอกเหนือจากการปิดสถานบันเทิง โดยให้เพิ่มมาตรการควบคุมที่เข้มข้น ทั้งการปิดพื้นที่เสี่ยง ยกเลิกกิจกรรมเสี่ยง งดการรวมตัวของประชาชนรวมถึงการทำงานที่บ้าน และขอความร่วมมือประชาชนปรับเพิ่มพฤติกรรมด้านสุขภาพ
-ประเด็นที่ 2 การบริหารจัดการเตียง ขณะนี้ได้เพิ่มกลไกให้มีการจัดการดีขึ้น รวมถึงเพิ่มจำนวนเตียงให้เพียงพอต่อการรองรับสถานการณ์
-ประเด็นที่ 3 วัคซีนป้องกันโควิด-19 กระทรวงสาธารณสุข ยืนยันด้วยข้อมูลทางวิชาการว่าวัคซีนทั้ง 2 บริษัทที่ประเทศไทยจัดหาเพื่อประชาชน คือ แอสตราเซเนกาและซิโนแวค มีประสิทธิภาพในการลดการติดเชื้อ ลดอัตราการป่วย เสียชีวิตได้
กรมควบคุมโรค เดินหน้าฉีดวัคซีนให้บุคลากรทางการแพทย์ 6 แสนโดส ภายใน 1เดือน
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า วัคซีนซิโนแวคอีก 1,000,000 โดส ที่เข้ามาถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 10 เม.ย.64 อยู่ในระหว่างการตรวจรับรองทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) คาดว่า 1-2 วันจะแล้วเสร็จ หลังจากนั้นจะมีการส่งมอบให้กรมควบคุมโรค โดยจะจัดสรรให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า 600,000 โดส โดยขอให้นพ.สาธารณสุขจังหวัด ฉีดวัคซีนดังกล่าวให้ครบถ้วนภายใน 1 เดือน
นอกจากนี้ นายกฯ สั่งการให้หน่วยงานภาครัฐทำงานที่บ้านตั้งแต่หลังสงกรานต์จนถึงสิ้นเดือนอย่างเต็มรูปแบบ และขอความร่วมมือจากภาคเอกชนด้วย
นพ.โอภาส กล่าวว่า ในภาพรวมการระบาดรอบนี้ส่วนใหญ่เป็นคนไทย อยู่ในวัยหนุ่มสาว 20-29 ปี ซึ่งมีกิจกรรมมาก ไปเที่ยวจากสถานบันเทิง ไปเที่ยวอีกจังหวัดหนึ่ง หรือกลับบ้านในช่วงสงกรานต์ ก็จะมีความเสี่ยงให้ผู้สัมผัสที่เป็นคนในครอบครัวติดเชื้อ จากนั้นก็จะกระจายในคนในชุมชน ดังนั้นจังหวัดไหนที่ยังไม่มีการระบาดในชุมชนก็จะต้องตัดวงจร โดยการติดตามผู้สัมผัส คัดกรอง ลดการเคลื่อนย้ายของชุมชน อย่างไรก็ตามช่วงนี้เป็นช่วงที่นักเรียนปิดเทอม และก็จะมีกิจกรรม เช่น การออกค่าย ทัศนศึกษา ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้โรคแพร่กระจายไปได้ ถ้าเป็นไปได้ขอให้งดกิจกรรมที่ไม่จำเป็นทั้งหมด
ผู้ป่วยไอซียูส่วนใหญ่ของบราซิลมีอายุน้อยกว่า 40 ปี
สมาคมการแพทย์ของบราซิล เปิดเผยรายงานฉบับใหม่ที่ระบุว่าการระบาดของโควิด-19 ในบราซิลกำลังส่งผลกระทบต่อผู้ที่มีอายุน้อยลงเรื่อย ๆ โดยข้อมูลจากโรงพยาบาลแสดงให้เห็นว่าในช่วงเดือนที่แล้วผู้ป่วยหนักในห้องไอซียูส่วนใหญ่คือผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป แต่ในช่วงเดือนนี้กลุ่มผู้ป่วยหนักในห้องไอซียูคือผู้ที่มีอายุน้อยกว่าหรือเท่ากับ 40 ปี กำลังมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
นับเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่บราซิลพบผู้ป่วยรายแรก ที่ร้อยละ 52 ของเตียงไอซียูคือผู้ป่วยอายุน้อยกว่าหรือเท่ากับ 40 ปี นั่นคือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 16.5 เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ป่วยไอซียูในช่วงอายุเดียวกันระหว่างเดือนธันวาคมปีที่แล้วถึงกุมภาพันธ์ปีนี้
ยังไม่ชัดเจนว่าเหตุใดผู้ป่วยโควิด-19 ในกลุ่มคนหนุ่มสาวจำนวนมากจึงมีอาการหนัก นักวิทยาศาสตร์บางคนคิดว่าอาจเป็นเพราะโควิดสายพันธุ์บราซิล ร่วมด้วยปัจจัยอื่น ๆ อาทิ การที่ผู้สูงอายุได้รับการฉีดวัคซีน และพฤติกรรมของผู้ที่มีอายุน้อยกว่าที่มีความรู้สึกกังวลน้อยลงในการออกไปข้างนอก การเข้าสังคม
สถาบันสาธารณสุขของบราซิล ระบุว่า แนวโน้มของผู้ป่วยหนักเพิ่มแรงกดดันให้กับระบบสุขภาพของบราซิล โดยเฉพาะการที่ผู้ป่วยหนักที่มีอายุน้อยมักจะใช้เวลาในการดูแลนานกว่าผู้สูงอายุ นอกจากนี้บราซิลยังเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกโดยมีผู้เสียชีวิตรายวันในสัปดาห์ที่แล้วมากกว่า 4,000 ราย รวมมีผู้เสียชีวิตสะสมมากกว่า 350,000 คนเป็นจำนวนที่มากเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐอเมริกาเท่านั้น