ผลวิจัย เผยเชื้อไวรัสโควิด-19 ชนิดกลายพันธุ์ในสหรัฐฯ,อังกฤษ ไม่ทำให้คนไข้ป่วยตายเร็วขึ้น

13 เมษายน 2564, 12:13น.


          รศ.เอเลนี นัสตูลี จากมหาวิทยาลัยยูนิเวอร์ซิตี้ คอลเลจ ลอนดอน (University College London) อังกฤษ ในฐานะผู้ร่วมเขียนผลการวิจัยเรื่องเชื้อไวรัสโควิด-19 ชนิดกลายพันธุ์จากอังกฤษ หรือ B117 พิมพ์แพร่ผลวิจัยในวารสารการแพทย์ เดอะแลนเซ็ต อินเฟคเชียส ดีซิสเซส( Lancet Infectious Diseases) ระบุว่า เชื้อไวรัสชนิดกลายพันธุ์จากอังกฤษซึ่งเป็นเชื้อกลายพันธุ์หลักที่พบในสหรัฐฯไม่ทำให้คนไข้ป่วยหนักและเสียชีวิตเร็วขึ้นเหมือนผลวิจัยแห่งหนึ่งของอังกฤษระบุก่อนหน้านี้ แต่ทีมวิจัยเห็นตรงกันกับผลวิจัยครั้งก่อนว่าเชื้อไวรัสชนิดกลายพันธุ์ระบาดเร็วกว่าเชื้อไวรัสชนิดดั้งเดิม



          จากการศึกษากลุ่มคนไข้ที่ติดโรคโควิด-19 รวม 339 คน ที่รักษาตัวในโรงพยาบาลต่างๆในกรุงลอนดอน ระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ทีมวิจัย พบว่า ร้อยละ 36 ของคนไข้ที่ติดเชื้อไวรัสชนิดกลายพันธุ์จากอังกฤษ มีอาการป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิต เทียบกับร้อยละ 38 ของคนไข้ที่ป่วยหนักหรือเสียชีวิตจากเชื้อไวรัสชนิดดั้งเดิม ชี้ว่า อัตราการป่วยหนักหรือการเสียชีวิตจากเชื้อไวรัสชนิดกลายพันธุ์ไม่รุนแรงดังที่หลายคนคิดไว้ในตอนแรก



          การที่เชื้อไวรัสสายพันธุ์ B117 ระบาดในรัฐมิชิแกน สหรัฐฯในระยะนี้ ทำให้มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจนทำให้รัฐมิชิแกนกลายเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดแห่งใหม่ของสหรัฐฯ หลายฝ่ายกังวลว่าโรคโควิด-19 อาจจะกลับมาระบาดอีกระลอก ขณะที่ นางเกรธเชน วิธเมอร์(Gretchen Whitmer) ผู้ว่าการรัฐมิชิแกน ขอให้รัฐบาลกลางกระจายวัคซีนให้รัฐมิชิแกนมากขึ้น เพื่อให้รัฐมิชิแกนสามารถที่จะจะควบคุมการแพร่ระบาดอย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบันสหรัฐฯมีผู้ป่วยสะสม 31,990,143 คน เสียชีวิต 576,298 ราย เป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดอันดับที่หนึ่งของโลก  



Cr: Bloomberg

ข่าวทั้งหมด

X