ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้เวลา 07.30น.วันจันทร์ที่ 12 เมษายน 2564

12 เมษายน 2564, 09:05น.



หมอ ย้ำรักษาโควิด-19 ใน รพ.ฟรี ทั้งรัฐ-เอกชน



          นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า กรมการแพทย์ เป็นเจ้าภาพในการจัดการเรื่องเตียงสำหรับคนไข้โควิด-19 ซึ่งมีหลักการว่า คนไข้ที่มีปัญหาไม่มีเตียงนอน ไม่ว่าจะตรวจจากที่ใดมาก็ตาม ให้โทรไปที่สายด่วนกรมการแพทย์ 1668 หรือ สายด่วน สปสช. 1330 จะได้รับคำแนะนำว่าต้องปฏิบัติตัวอย่างไร และหาเตียงให้ด้วย  โดยมีเครือข่ายดูแลบริหารจัดการเตียงสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ประกอบด้วย โรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ สังกัดกรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลของมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลสังกัดกองทัพ และ โรงพยาบาลเอกชน  โดยทั้ง 5 เครือข่ายจะนำเตียงที่มีอยู่มาบริหารจัดการร่วมกันในระบบคอมพิวเตอร์ และอัพเดททุกวัน โดยวันที่ 11 เม.ย. 64 ในกรุงเทพมหานคร มีเตียงทั้งหมด 4,300 เตียง มีผู้ป่วยครองเตียง 2,400 เตียง ซึ่งมีเตียงว่าง 1,900 เตียง 




          อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การบริหารจัดการเตียงร่วมกัน 5 เครือข่าย ทำแบบนี้มาแล้ว 1 ปีตั้งแต่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ก็ไม่มีปัญหา แต่การระบาดระลอกใหม่เดือนเม.ย. 64 ที่เชื่อมโยงกับสถานบันเทิง มีความแตกต่างจากกรณีอื่นๆ  เพราะคนไข้จากผับแถวสุขุมวิท เป็นคนไข้ที่มีฐานะ ตั้งแต่ฐานะปานกลางถึงฐานะสูง ส่วนใหญ่ใช้บริการโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งโรงพยาบาลเอกชนส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลที่ดี ปฏิบัติตามข้อตกลงคือ โรงพยาบาลไหนตรวจเชื้อคนไข้ และพบผลเป็นบวก ให้โรงพยาบาลนั้นรับผิดชอบดูแลให้คนไข้มีเตียงนอนในโรงพยาบาล หากโรงพยาบาลเอกชนแห่งนั้นเต็ม ก็ส่งต่อโรงพยาบาลเอกชนอื่นในเครือข่าย 



         ปัญหาขณะนี้คือ ประชาชนอาจแห่ไปตรวจที่โรงพยาบาลเอกชนบางเครือจนเตียงเต็ม แต่พบปัญหาว่า โรงพยาบาลเอกชนบางแห่งไม่ส่งต่อคนไข้ ข้ามเครือข่ายของโรงพยาบาลเอกชนด้วยกัน และได้รับการร้องเรียนว่าบางแห่งเก็บค่ารักษาพยาบาลอีกด้วย ซึ่งความจริงแล้วต้องดูแลคนป่วยโควิด-19 ฟรี



         อธิบดีกรมการแพทย์ ระบุว่า  อยากขอว่าเวลานี้ไม่ใช่ช่วงเวลาทำมาหากิน เป็นช่วงเวลาที่ต้องช่วยชีวิตประชาชน เอกชนบางแห่งที่ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง เป็นการกระทำที่น่าเกลียด สำหรับคนไข้ที่ไปตรวจ ไม่ว่าจะที่ไหนแล้วมีผลเป็นบวก ให้ติดต่อสายด่วน 1668 และ 1330 เราจะให้คำแนะนำและช่วยเหลือจนกว่าจะหาเตียงได้ ทั้งนี้การรักษาโรคโควิด-19 ของประเทศไทย คือ คนไข้ทุกคนต้องนอนโรงพยาบาล 



         สำหรับการระบาดระลอกนี้ แม้ส่วนใหญ่จะมีอาการไม่มาก แต่เราเป็นห่วงว่าจะแพร่เชื้อให้ผู้สูงอายุในบ้าน จึงขอให้ทุกคนนอนโรงพยาบาล อย่างน้อย 5 วัน ให้แน่ใจว่าไม่มีอาการ และปอดปกติ ก็จะเคลื่อนย้ายให้ไปพักที่โรงพยาบาลสนาม หรือ โรงพยาบาลโรงแรม Hospitel เชื่อว่า อีกไม่กี่วัน สถานการณ์เตียงคนไข้ของโรงพยาบาลเอกชน จะคลี่คลาย




สบส.เร่งจัดหา Hospitel ได้แล้ว 2,500 เตียง



         การเพิ่มเตียงและการดำเนินการ Hospitel นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ทำความเข้าใจกับโรงพยาบาลเอกชนอีกครั้งด้วยการย้ำว่า  



-หากโรงพยาบาลเอกชนใด สามารถขยายเตียงเพิ่มได้ภายในพื้นที่ของโรงพยาบาลก็ให้ดำเนินการขยายเตียงได้เลยโดยไม่ต้องส่งเรื่องเข้าคณะกรรมการพิจารณา



-หากโรงพยาบาลเอกชนไม่สามารถที่จะรองรับได้จะต้องรับผิดชอบในการส่งต่อผู้ป่วยจัดหาเตียงให้ผู้ป่วยด้วย



-การทำ Hospitel ทำหน้าที่เป็นเสมือนหอผู้ป่วยในของโรงพยาบาลที่ทำการจับคู่ด้วย เพื่อรับผู้ติดโควิด-19 เข้ามาดูแล โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ขณะนี้ได้มา 2,500 เตียงแล้ว



-การจัดตั้งโรงพยาบาลสนามอีกหลายแห่ง




รพ.สนามของ มธ.รังสิต รับผู้ป่วยได้ 470 เตียง-รามาธิบดีอีก 400 เตียง



         พร้อมรับผู้ป่วยได้แล้ว หลังจากที่เปิดแล้วโรงพยาบาลสนาม 470 เตียง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เปิดโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ ขนาด 470 เตียง เรียบร้อยแล้ว นอกจาก โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์แล้ว กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ยังมีโรงพยาบาลสนามของคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งตั้งอยู่ที่สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ อีก 400 เตียง หมายความว่า ภายในระยะเวลาอันใกล้นี้ อว. จะมีโรงพยาบาลสนามทั้งสิ้น 870 เตียง



         ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ กล่าวว่า อว.มีโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ทั่วประเทศอีก 22 แห่ง ซึ่งมีความพร้อมทั้งปริมาณและคุณภาพทั้งในเรื่องของสถานที่และบุคลากร รวมถึงมีมหาวิทยาลัยอีกทุกจังหวัดที่พร้อมจัดตั้งเป็นโรงพยาบาลสนามได้โดยทันที 



รพ.สนาม จ.เชียงใหม่รับผู้ป่วยได้ 1,000 คน    



         นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อม นพ.จตุชัย มณีรัตน์ สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลสนามเชียงใหม่ และประชาชนนำสิ่งของมาบริจาคที่จุดรับบริจาคสิ่งของที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษาจังหวัดเชียงใหม่



         ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า จากการปฏิบัติงานจริงอาจมีปัจจัยและตัวแปรต่างๆ เพิ่มเติม คณะกรรมการโรคติดต่อได้ประชุมและปรับปรุงการปฏิบัติงานให้รองรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทุกวัน โดยโรงพยาบาลสนามที่วางไว้จะสามารถรองรับผู้ป่วยได้ถึง 1,000 คน



          สถานการณ์ของจังหวัดเชียงใหม่ ไม่เหมือนจังหวัดสมุทรสาคร ที่มีระยะแพร่เชื้อยาวนานกว่า แต่ของเราเป็นการแพร่เชื้อในกลุ่มก้อนใหญ่ จึงมีโอกาสพบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก สิ่งสำคัญคือต้องค้นพบผู้ติดเชื้อให้ได้เร็วที่สุดเพื่อแยกตัวออกจากชุมชนมารักษาตัว จึงได้มีการเพิ่มจุดตรวจมากขึ้นแล้ว เพื่อให้กลุ่มเสี่ยงที่คาดว่าจะมีมากกว่า 5,000 – 6,000 คน เข้ารับการตรวจอย่างรวดเร็ว



         ส่วนที่ จ.เชียงราย นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้เตรียมความพร้อมสถานที่ตั้งโรงพยาบาลสนามเพื่อให้มีความเพียงพอ โดยกำหนดไว้เบื้อง 500 เตียง บริเวณสถานที่ของโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) อ.เมืองเชียงราย



มอ.ภูเก็ต รับผู้ป่วยโควิด-19 ประเดิมเฟสแรก 50 เตียง



         นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ลงพื้นที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต อ.กะทู้ เตรียมความพร้อมโรงพยาบาลสนามในโรงยิม มอ.ภูเก็ต รับผู้ป่วยโควิด-19 ประเดิมเฟสแรก 50 เตียง และจะขยายเตียงเพิ่มขึ้นอีก 100 เตียง ตั้งเป้าทุกอำเภอต้องมีเตียงฉุกเฉินครบ 500 เตียง รองรับผู้ป่วยอาการไม่รุนแรงครอบคลุมทุกอำเภอเป็นการเตรียมพร้อมไว้ ส่วนผู้ป่วย PUI มีโรงแรมให้พักรอผลตรวจ 



ตรวจเชิงรุกสถานบันเทิงย่านทองหล่อกว่า 8,000 คน ติดเชื้อ 659 คน



         สำนักประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร(กทม.) สรุปผลการตรวจเชิงรุกเมื่อวันที่ 11 เม.ย.64  สถานบันเทิงย่านทองหล่อ ระหว่างวันที่ 3-10 เม.ย. 64 มีผู้เข้ารับการตรวจคัดกรองหาเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมทั้งสิ้น 8,060 คน



-พบติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 659 คน



-ไม่พบเชื้อ จำนวน 3,357 คน



-อยู่ระหว่างรอผล จำนวน 4,044 คน



ปิดผับ 41 จังหวัด ลดแพร่เชื้อได้ 25%



          ปิดสถานบันเทิง จะคุมการระบาดได้จริงหรือ จะปิดเพิ่มอีกหรือไม่ ข้อมูล จากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ผู้ติดเชื้อร้อยละ 90 เกี่ยวข้องสถานบันเทิง การปิดสถานบันเทิง ก็คือ ลดโอกาสการเเพร่เชื้อ ส่วนสถานบันเทิง จ.อื่นๆ จะต้องเข้มมาตรการ หากผู้ติดเชื้อลดลงก็จะคงไว้ เเต่หากติดเชื้อมากขึ้นก็จะต้องปิดเพิ่ม



         นพ.โสภณ เอี่ยมสิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค  สรุปว่าการระบาดในสถานบันเทิงแพร่กระจายไปแล้ว 70 จังหวัดส่วนใหญ่มาจากกรุงเทพฯและปริมณฑล ส่วนใหญ่เกิดในกลุ่มวัยทำงาน อายุ 20-29 ปี ถือว่าเสี่ยงที่สุด สถานบันเทิงที่ตรวจพบเชื้อจากสถานบันเทิงกรุงเทพฯมากที่สุด 85 แห่งโดย คริสตัลคลับ ทองหล่อ ติดเชื้อมากที่สุดสถิติรวม 211 คน มีการศึกษาพบว่า การปิดสถานบันเทิง 41 แห่ง ช่วยลดการระบาดได้ถึงร้อยละ 25 เพราะหากไม่ปิดสถานบันเทิงคาดการณ์ว่าใน 1 เดือนจะมีผู้ติดเชื้อ 7,244 คน



 

ข่าวทั้งหมด

X