พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด (รอง ผบ.สส.) ระบุว่า การดำเนินการที่เกี่ยวกับยาเสพติด กระทรวงยุติธรรม มอบหมายให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานโดยเน้นการป้องกัน การปราบปรามและการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งจากเดิมจะเน้นการปราบปรามเป็นหลัก แต่ก็ไม่ได้ทำให้ปัญหายาเสพติดในประเทศลดลง จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนแผนการดำเนินการ โดยจะเน้นการป้องกันและฟื้นฟู โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนซึ่งเป็นวัยเริ่มต้นการทดลองใช้ยาเสพติด ดังนั้นทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องช่วยกันดำเนินการในการป้องกันอย่างจริงจัง โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนในและนอกสถานศึกษาให้ครอบคลุม ส่วนการดำเนินการปราบปรามแหล่งผลิตยาเสพติดตามแนวชายแดน ในสัปดาห์หน้าจะเดินทางไปประเทศจีน เพื่อพูดคุยกับตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใน 4ประเทศ เช่น ไทย จีน ลาว และพม่า เพื่อพูดคุยถึงการแก้ไขและมาตรการดำเนินการกับแหล่งผลิตยาเสพติดในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
ด้านนางอัญชลี ศิริทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด สำนักงาน ป.ป.ส. เปิดเผยว่า ปัจจุบันปัญหาการติดยาเสพติดในเยาวชนไทยมีปริมาณที่เพิ่มขึ่นเรื่อยๆ เนื่องจากอยากทดลอง ประกอบกับสภาพสังคมแวดล้อมในชุมชน อายุเยาวชนที่มีสถิติติดยาเสพติดอยู่ที่ 15-19ปี จึงเป็นสาเหตุที่ ป.ป.ส. จะต้องหาวิธีป้องกัน โดยจะปลูกฝังให้เยาวชนรับรู้ถึงโทษภัยของยาเสพติดตั้งแต่ชั้นอนุบาล ซึ่งจะมีการทำสื่อการเรียนการสอนหนังสือนิทาน จำนวน150,000ชุด เพื่อแจกแก่โรงเรียนอนุบาล และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั่วประเทศพร้อมกับมีการอบรมครูผู้สอนในการอธิบาย ตามหลักทฤษฎี เพื่อให้สามารถนำไปเล่า และสื่อสารให้เด็กเข้าใจและรับรู้ถึงพิษภัยของยาเสพติด เพื่อไม่ให้โตขึ้นแล้วอยากที่จะไปทดลองใช้สารเสพติด
อย่างไรก็ตามในวันนี้ ก็ได้มีการร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง ในการดำเนินงานด้านการสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันยาเสพติดในกลุ่มเด็กและเยาวชนในสถานศึกษาประกอบด้วยผู้บริหารของ 9 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ,สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ,สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ,สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ,สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ,มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ,มหาวิทยาลัยมหามงกุฏราชวิทยาลัย ,สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ ,สำนักงาน ป.ป.ส.
วิรวินท์