ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้เวลา 08.30น.วันอังคารที่ 30 มีนาคม 2564

30 มีนาคม 2564, 10:18น.



ผู้ส่งออก ประเมินผล วิกฤตคลองสุเอซ ค่าระวางเรือแพง ต้องการตู้คอนเทนเนอร์เพิ่ม




          น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวถึง กรณีเรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่ เอเวอร์ กิฟเวน (Ever Given) เกยตื้นขวางคลองสุเอซ (Suez) ทางแถบประเทศอียิปต์ จนทำให้มีเรือบรรทุกสินค้าอีกประมาณ 300 ลำเข้าคิวรอผ่านเส้นทาง การส่งสินค้าจึงมีความล่าช้าไปแล้วประมาณ 1 สัปดาห์ ขณะนี้ เรือเอเวอร์ กิฟเวน ลอยและขยับได้แล้ว ก็น่าจะส่งผลให้เรือบรรทุกสินค้ามีความล่าช้าในการส่งสินค้าไปรวมประมาณ 2 สัปดาห์ โดยสินค้าส่วนใหญ่ของไทยที่ส่งออกไปสามารถเก็บได้ในอุณหภูมิปกติ จึงไม่น่าจะทำให้สินค้าได้รับความเสียหายจากระยะเวลาที่เพิ่มขึ้น



          จำนวนเรือประมาณ 300 ลำ คิดเป็นจำนวนตู้ประมาณ 1,000,000 ตู้ คาดว่าจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 เดือน ถึงจะกลับสู่ภาวะปกติ จากเหตุการณ์ดังกล่าวจะทำให้ความต้องการตู้สินค้าเพิ่มมากขึ้น ด้วยจำนวนตู้ที่มีจำกัดในตลาด หลังจากที่ภาวะเศรษฐกิจโลกมีการปรับตัวดีขึ้น ก็จะยิ่งทำให้ความต้องการตู้สินค้ามากขึ้น อาจจะทำให้ตู้ไม่เพียงพอ การจองรอบการส่งออก (Booking) มีโอกาสที่ค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันค่าระวางเรืออยู่ในระดับที่สูง เส้นทางขนส่งทางยุโรปอยู่ที่ประมาณ 4,000-4,500 เหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วง 3-4 ปีก่อน ค่าระวางเรืออยู่ที่ประมาณ 700-800 เหรียญสหรัฐฯ ส่วนในสหรัฐฯ ค่าระวางเรือได้ปรับขึ้นเป็น 5,000-6,000 เหรียญสหรัฐฯ จากระดับ 1,000 เหรียญสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ได้มีการพูดคุยกับกระทรวงพาณิชย์ ให้ช่วยติดตามเรื่องค่าใช้จ่ายที่อาจโดนเรียกเก็บเพิ่มหากตู้ขาดแคลน



          ปัจจุบันไทยมีสัดส่วนการส่งออก ไปตลาดยุโรปเพียงร้อยละ 10 สินค้าส่งออกส่วนใหญ่เป็น อาหารแปรรูป อาหารสด อาหารทะเลแช่แข็ง ยานยนต์ ชิ้นส่วน ส่วนประกอบ ดังนั้น ถ้าหากการขนส่ง ล่าช้าไม่เกินเดือนครึ่ง ก็เชื่อว่า ระยะสั้น ผู้ประกอบการจะรับมือได้ แต่หากนานกว่านั้น อาจส่งผลให้ราคาสินค้าที่ส่งไปปรับตัวสูงขึ้นประมาณร้อยละ 10-15 ตามต้นทุนค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น ซึ่งประเทศคู่แข่งก็จะประสบปัญหานี้เช่นเดียวกัน ดังนั้นคาดว่า ไม่น่าจะกระทบต่อการส่งออกของไทยโดยรวม



ไทย ติดอันดับ 3 การจ้างงานเพิ่มขึ้น ธุรกิจไอที-ประกันภัย รั้งอันดับฟื้นตัวสูงสุด



          น.ส.พรลัดดา เดชรัตน์วิบูลย์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า จ๊อบส์ ดีบี วิเคราะห์ข้อมูลและประเมินแนวโน้มทิศทางตลาดแรงงานหลังวิกฤต พบว่า อัตราการแข่งขันในการหางานของคนไทยมีอัตราส่วนการแข่งขันอยู่ที่ 1 ต่อ 100 ใบสมัคร โดยกระจุกตัวอยู่เพียงในเงินเดือนไม่เกิน 30,000 บาท ในด้านของสถานการณ์การจ้างงานของกลุ่มประเทศในอาเซียน 4 ประเทศเศรษฐกิจหลัก พบว่า ประเทศที่เริ่มกลับมามีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ ตามลำดับ



          สถานการณ์เดือนก.พ.ปี 64 จำนวนความต้องการแรงงานในประเทศไทยทั้งจากบนแพลตฟอร์มหางาน และช่องทางสื่อกลางออนไลน์อื่น ๆ ฟื้นขึ้นจากจุดต่ำสุดถึงร้อยละ 24.65 สะท้อนให้เห็นถึงสัญญาณการฟื้นตัวของตลาดแรงงานไทยผ่านจำนวนความต้องการแรงงานของผู้ประกอบการว่า ได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดจากช่วงเดือน เม.ย.63 และเดือน ธ.ค. 63 จากการระบาดระลอกที่ 2 และคาดการณ์ว่าจำนวนประกาศงานทั้งประเทศจะกลับมาเป็นบวกร้อยละ 5 ในกลางปี 64 (เมื่อเทียบกับกลางปี 63) และจะฟื้นตัวเท่ากับก่อนวิกฤติการณ์โควิด–19 ในต้นปี 65 หากไม่มีการระบาดระลอกใหม่



          ส่วนความต้องการเมื่อแบ่งตามสายงาน จากจำนวนประกาศงานบน จ๊อบส์ ดีบี ในไตรมาสที่ 1 ของปี 64 กลุ่มสายงานที่เป็นที่ต้องการมากที่สุด ได้แก่ 1) สายงานขาย บริการลูกค้า และพัฒนาธุรกิจ คิดเป็น ร้อยละ16.0  2) สายงานไอที คิดเป็นร้อยละ 14.7 3) สายงานวิศวกรรม คิดเป็นร้อยละ 9.8 ในด้านมุมมองกลุ่มธุรกิจพบว่า ธุรกิจที่มีอัตราการฟื้นตัวสูงสุดเมื่อเทียบกับครึ่งปีหลังของปี 63 ได้แก่ 1) กลุ่มธุรกิจประกันภัย 2) กลุ่มธุรกิจอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 3) กลุ่มธุรกิจการผลิต



          ด้านมุมมองกลุ่มธุรกิจ พบว่า ธุรกิจที่มีสัดส่วนจำนวนประกาศงานสูงสุด ได้แก่ 1) กลุ่มธุรกิจไอที คิดเป็น ร้อยละ 12.9 2) กลุ่มธุรกิจการผลิต คิดเป็นร้อยละ 8.1 3) กลุ่มธุรกิจการค้าปลีก-ส่ง คิดเป็นร้อยละ 6.6



          ส่วนธุรกิจที่มีอัตราการฟื้นตัวสูงสุดเมื่อเทียบกับครึ่งปีหลังของปี 2563 ได้แก่ 1) กลุ่มธุรกิจประกันภัย คิดเป็น ร้อยละ 42.9 2) กลุ่มธุรกิจอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ คิดเป็นร้อยละ 41.9 3) กลุ่มธุรกิจการผลิต คิดเป็นร้อยละ 37.7 นอกจากนี้ ยังพบว่า อัตราการแข่งขันในการหางานของคนไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นถึงร้อยละ 20 ในช่วงวิกฤติการณ์โควิด-19



 ‘อนุทิน’ ส่งรถตรวจโควิดไปชายแดน- รพ.10 จังหวัดมีความพร้อม

          นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมหลังมีชาวเมียนมา อพยพทะลักเข้ามาในประเทศไทยจากสถานการณ์การเมืองภายในว่า ได้หารือกับแม่ทัพภาคที่ 3 ๆให้ข้อมูลว่าจะพยายามตรึงไว้ให้มากที่สุดโดยจะมีที่พักพิงให้กับชาวเมียนมาที่อพยพเข้ามาโดยไม่ให้เข้ามาในประเทศไทย ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข พร้อมที่จะช่วยในเรื่องของการตรวจเชื้อและหากไม่เพียงพอก็จะมีรถพระราชทานในการตรวจเชื้อและรถแล็บเคลื่อนที่ซึ่งพร้อมจะเอาลงไปในพื้นที่ทันที



          นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข สั่งการให้โรงพยาบาลตามแนวชายแดน 10 จังหวัด เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์



ปรับแผนฉีดวัคซีนฉุกเฉินให้เจ้าหน้าที่ด่านหน้า



          ขณะเดียวกัน มีการปรับแผนการกระจายวัคซีนจะจัดส่งวัคซีนลงไปเพื่อฉีดให้กับผู้ปฏิบัติงานด่านหน้าตามแนวชายแดนโดยเฉพาะในส่วนของทหาร ตำรวจ เนื่องจากเป็นกลุ่มคนที่อยู่ใกล้ชิดกับชาวเมียนมามากที่สุด โดยประสานไปยังฝ่ายทหารให้กำหนดอัตรา ผู้ปฏิบัติงานมาที่กระทรวงสาธารณสุข เพื่อจัดส่งวัคซีนลงไปฉีดในภาวะเร่งด่วนอย่างพอเพียง โดยมีโรงพยาบาลทหาร เป็นผู้ดำเนินการฉีดให้



วันนี้ สธ.รับวัคซีนซิโนแวค 800,000 โดส




          วันนี้ กระทรวงสาธารณสุข จะรับมอบวัคซีนซิโนแวค 800,000 โดส จากองค์การเภสัชกรรม และจะเร่งกระจายไปตามพื้นที่เป้าหมาย ที่กำหนดรวมถึงพื้นที่ชายแดน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า ไม่ต้องกังวลว่าวัคซีนจะไม่เพียงพอ เนื่องจาก วัคซีนที่เข้ามาก่อนหน้านี้ สธ.ได้กันส่วนหนึ่งเอาไว้ใช้สำหรับสถานการณ์ฉุกเฉิน ชาวเมียนมาที่เข้ามา เราให้การดูแลตามหลักมนุษยธรรม โดยให้อยู่ตามบริเวณจังหวัดชายแดนเท่านั้น ไม่อนุญาตให้เข้ามาพื้นที่อื่นของประเทศ




 

ข่าวทั้งหมด

X