นอกจากนั้น คณะทำงานฯ ยังได้เสนอโครงการฯ ที่จะนำมาต่อยอดเป็นการนำร่อง จำนวน 4 โครงการ ได้แก่ โครงการปรับปรุงคลองผันน้ำร่องสักและโครงการก่อสร้างฝายร่องขุนพร้อมระบบส่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดพะเยา โครงการเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี โครงการพัฒนาแหล่งน้ำสองฝั่งลำน้ำชีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดชัยภูมิ และโครงการอาคารอัดน้ำบ้านเนินทองพร้อมระบบส่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดระนอง โดยน้อมนำหลักการทรงงาน หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวคิดหลักในการพัฒนา เพื่อเป็นการเพิ่มพูนประโยชน์สุขให้แก่ราษฎรตามพระบรมราโชบายในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสืบสาน รักษา ต่อยอดโครงการ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ที่ประชุมยังได้พิจารณาโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเพื่อบรรจุในภารกิจของคณะกรรมการติดตามและขับเคลื่อนฯ ประกอบด้วย
1) โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเหนือเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จำนวน 9 โครงการ
2)โครงการบรรเทาอุทกภัยพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่างอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
3)โครงการพัฒนาแหล่งน้ำสองฝั่งลำน้ำชีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำนวน 15 โครงการ รวมทั้งยังได้พิจารณาโครงการต่อยอดอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้วย
สำหรับระเบียบวาระการประชุม คือ การสรุปผลการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่อยู่ในโครงการติดตามและขับเคลื่อนฯ จำนวน 88 โครงการ แบ่งเป็นโครงการที่มีพระราชดำริโดยตรง จำนวน 26 โครงการ และโครงการที่เกิดจากราษฎรขอพระราชทานความช่วยเหลือ (ฎีกา) จำนวน 62 โครงการ จากการติดตามและขับเคลื่อนโครงการของคณะกรรมการฯ ทั้งในระดับนโยบายและระดับพื้นที่ ทั้ง 4 ภาค โดยมีองคมนตรีเป็นประธานคณะอนุกรรมการฯ สามารถขับเคลื่อนโครงการโดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงาน กปร. และกรมชลประทาน ไปแล้ว จำนวน 60 โครงการ อยู่ระหว่างการขอรับการสนับสนุนงบประมาณ อีก 21 โครงการ นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้พิจารณาโครงการที่ติดปัญหาซึ่งส่วนใหญ่ปัญหาด้านพื้นที่ รวมทั้งสรุปผลการติดตามการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ ช่วงตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ถึง 15 มีนาคม 2564 ได้มีการติดตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริไปแล้วจำนวน 47 โครงการ รวม 22 จังหวัด ครอบคลุมทั้ง 4 ภาค