นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) หรือ ศบศ. ที่ทำเนียบรัฐบาล ยืนยันว่า ผู้ป่วยที่เสียชีวิตหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ไม่ได้เสียชีวิตจากการฉีดวัคซีน แต่เพราะมีปัญหาโรคหลอดเลือดแดงโป่งพองอยู่แล้ว ซึ่งอาจจะเป็นจังหวะพอดีกับช่วงที่รับวัคซีน และเมื่อช่วงเช้า (26 มี.ค.64) ได้พูดคุยหารือกับแพทย์อาวุโสด้านต่างๆ ทุกคนต่างยืนยันว่า สาเหตุการเสียชีวิตไม่ได้มาจากวัคซีน จึงขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนทุกชนิดสามารถเกิดขึ้นได้ มากบ้างน้อยบ้างเป็นเรื่องปกติและเป็นที่ยอมรับทางการแพทย์
ส่วนกรณี น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีผลข้างเคียงหลังฉีดวัคซีน นายอนุทิน เปิดเผยว่า ได้โทรศัพท์สอบถามอาการตั้งแต่วันแรกแล้ว ซึ่งรัฐมนตรีทุกคน มีปัญหาอดนอน พักผ่อนน้อย หากรัฐมนตรีคนไทยนอน 2 ทุ่ม ตื่น 6 โมงเช้า คงถูกนายกรัฐมนตรีถามแน่นอนว่าทำไมไม่ทำงาน นอกจากนี้ น.ส.มนัญญา ก็วัยใกล้เกษียณ ย่อมมีผลข้างเคียงได้ รวมทั้งยังต้องเดินทางไปทำงานในพื้นที่ มีงานมาก จึงอาจเกิดความเครียด ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงได้ แต่เมื่อมีไข้ ก็ไปรักษาที่โรงพยาบาล 2 วัน ก็หายดีไม่ได้เป็นอะไรรุนแรง ดังนั้นมีปัจจัยหลายอย่าง ไม่ใช่แค่การฉีดวัคซีนอย่างเดียว อย่างเช่นนายกรัฐมนตรีเอง ฉีดวัคซีนแล้วอารมณ์ดี หรือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฉีดแล้วก็ยังแข็งแรงดี หรือแม้แต่ตัวเอง ที่ก่อนฉีดเข็มสองเตรียมตัวมาดี เพราะมีปัญหาความดัน แต่เมื่อถึงเวลาจะฉีดก็รู้สึกเครียด กลัวว่าหากฉีดแล้ววูบไปจะทำอย่างไร เพราะนักข่าวมาทำข่าวมาก ยิ่งคิดก็ยิ่งเครียดจนถึงขั้นชีพจรเต้นเร็ว แต่สุดท้ายก็ผ่านไปด้วยดี ไม่มีปัญหาอะไร ดังนั้นอาการข้างเคียงต่างๆ ขึ้นอยู่กับสภาพจิตใจด้วย
นายอนุทิน ยืนยันว่า ทุกคนจะต้องฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 และกรมควบคุมโรคก็ยืนยันว่า การฉีดวัคซีนจะไม่ทำให้โรคประจำตัวที่เป็นอยู่ทวีความรุนแรง และจะไม่เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ยืนยันว่าเมื่อได้รับวัคซีนแล้วผลข้างเคียงไม่รุนแรง100% ไม่ตาย100% เพราะผลการทดลองของผู้ผลิตวัคซีนและสถาบันทางการแพทย์ชั้นนำของโลก ก็มีผลรับรองอยู่แล้ว
“ต้องขอวิงวอนว่าเมื่อวัคซีนมาพร้อมแล้ว ผมต้องกราบเท้าพี่น้องประชาชนทุกคนว่าให้มารับการฉีดอย่ากลัวเพื่อรองรับวัคซีนที่มาในแต่ละเดือน ผมเป็นคนหนึ่งที่ได้รับวัคซีนแล้ว ก็ได้อาสาสมัครไปเป็นคนที่บริจาคเลือดหลังได้รับวัคซีน 2 เข็ม เพื่อไปทดสอบว่าสามารถสร้างภูมิต้านทานได้หรือไม่ เพราะถ้าหลายคนที่ฉีดแล้วสามารถสร้างภูมิต้านทานได้แสดงว่าผู้ได้รับวัคซีนส่วนใหญ่สร้างภูมิคุ้มกันได้ แล้วเราจึงค่อยมาพิจารณาเรื่องการผ่อนคลายกัน เช่น เปิดเมือง การเดินทางสัญจรไปมา ซึ่งเมื่อฉีดวัคซีนไปได้ 5-10 ล้านคน สามารถทยอยเปิดประเทศได้ แต่ไม่ขอระบุว่าเป็นวันไหนเดือนไหน เพราะต้องให้ทางการแพทย์เป็นผู้ประเมิน”
สำหรับการเปิดรับนักท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะเริ่มต้นเมื่อไหร่ เพราะต้องให้กรมควบคุมโรคและทีมแพทย์กระทรวงสาธารณสุขประเมินก่อน และจะต้องทุ่มวัคซีนเข้าไปที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งจะเริ่มทยอยฉีดได้ในสัปดาห์หน้า100,000 โดส , เกาะสมุย 50,000 โดส , สมุทรสาคร 100,000 โดส และกทม. 100,000 โดส ส่วนเดือนเมษายน วัคซีนจะมาอีก 1,000,000-2,000,000 โดส ตามคำสั่งซื้อเดิม จะกระจายไปพื้นที่ต่างๆปลายเดือนพฤษภาคมหรือต้นมิถุนายน เพื่อทยอยฉีดให้ประชาชนต่อไป
ส่วนกรณีวัคซีนของบริษัทจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ผ่านการรับรองของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย.แล้ว จะสามารถนำมาฉีดให้ประชาชนได้หรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับบริษัทจอห์นสันแอนด์จอห์นสันว่าจะขายให้รัฐบาลหรือไม่ เพราะขณะนี้ยังเป็นเพียงการขึ้นทะเบียนให้กับจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน เพื่อเป็นการพิสูจน์ว่า บริษัทใดก็ตามที่มาขึ้นทะเบียน หน่วยงานภาครัฐก็รับเอาไว้เพื่อลบคำครหาว่าเลือกปฏิบัติ
นายอนุทิน ระบุว่า รัฐบาลได้คุยกับบริษัทดังกล่าว ว่าขอให้เป็นหลังจากที่แอสตราเซเนกา ส่งวัคซีนได้หมดตามคำสั่งซื้อทั้ง 61 ล้านโดสแล้ว เพราะถือว่าแอสตราเซเนกา เป็นวัคซีนหลักที่ใช้กับคนไทย ซึ่งจะทยอยส่งได้ในเดือนมิถุนายน 2564 ดังนั้นไม่ว่ายี่ห้อใดที่จะมาหลังจากนั้น ถือว่าเป็นช่วงที่ไทยไม่ได้มีความต้องการมาก เพราะช่วงที่ไทยต้องการวัคซีนมาก คือ ขณะนี้จนถึงเดือนมิถุนายน ซึ่งบริษัทไหนที่มาก่อนช่วงนี้ จะมีกฎหมายรองรับว่า ซื้อมาเพื่อรองรับในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งในช่วงก่อนหน้านี้ ไม่มีบริษัทอื่นส่งเข้ามาให้ไทยพิจารณา แม้แต่บริษัทจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ก็บอกว่า จะได้วัคซีนในช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค. ซึ่งช่วงนั้นวัคซีนหลักมาถึงแล้ว แต่หากจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน มีความมั่นใจในผลิตภัณฑ์ของตัวเอง แล้วไปถอนการใช้วัคซีนฉุกเฉินจากสหรัฐฯ ก็สามารถนำมาขายให้ภาคเอกชนสำหรับใช้ในภาวะปกติ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ที่ต้องการฉีดวัคซีนแบบเสียเงิน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขยืนยันจะให้การสนับสนุน ให้นำเข้าเพื่อนำมาใช้กับภาคเอกชนได้ โดยไม่ปิดกั้นเพราะจะเป็นประโยชน์กับภาครัฐด้วย
แฟ้มภาพ