สธ.ยืนยันผู้ป่วยหลอดเลือดแดงโป่งพองเสียชีวิต ไม่เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโควิด

26 มีนาคม 2564, 12:02น.


          กระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวกรณีมีคนไทยเสียชีวิตด้วยอาการเส้นเลือดใหญ่ในท้องโป่งพองแตก หลังฉีดวัคซีนโควิด-19  โดย นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ  เปิดเผยผลการสอบสวนโรคเบื้องต้น ของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ที่รายงานผลมาเมื่อเช้านี้ (26 มี.ค.64)  พบว่า การเสียชีวิตของผู้ป่วยชายรายนี้ ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19  แต่เป็นการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองและแตก ซึ่งเป็นอาการป่วยเดิม





          จากการสอบสวน พบว่า



- ผู้ป่วยรายนี้ เข้ารับผ่าตัดเพื่อรักษาโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง เมื่อช่วงปลายเดือนมกราคม 2564  และนอนพักรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ประมาณ 40 วัน หลังจากนั้นแพทย์ให้กลับบ้าน เนื่องจากอาการดีขึ้น 



- หลังจากกลับบ้านได้ประมาณ 1 สัปดาห์ ผู้ป่วยไปรับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เนื่องจากเห็นว่าตัวเองเป็นกลุ่มเสี่ยง มีโรคประจำตัว  



- หลังฉีดวัคซีนประมาณ 30 นาที ซึ่งเป็นระยะสังเกตอาการ ณ สถานที่ฉีด พบว่าอาการปกติ หลังจากนั้นผู้ป่วยกลับบ้าน โดยมีระบบการติดตามอาการอย่างใกล้ชิด 



- ในวันที่ 1 และวันที่ 3 หลังฉีดวัคซีน  ผู้ป่วยรายงานอาการของตัวเอง ว่าอาการปกติ  



- ในวันที่ 7 หลังฉีดวัคซีน เจ้าหน้าที่ผู้ติดตามอาการ ไม่สามารถติดต่อผู้ป่วยได้ 



- ในวันที่ 8 และ 9 หลังฉีดวัคซีน ผู้ป่วยมีอาการแน่นหน้าอก เวียนศีรษะ เป็นลม จึงเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล  แต่อาการทรุดลง



- ในวันที่ 13 หลังฉีดวัคซีน ผู้ป่วยเสียชีวิต แพทย์สรุปว่า น่าจะเสียชีวิตจากอาการหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง แตกและรั่วในร่างกาย  โรคนี้เป็นเหมือนระเบิดเวลาและอันตรายมาก  ส่วนการไปฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ไม่ได้มีผลเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิต เพียงแต่บังเอิญไปรับวัคซีนในช่วงนั้น   



          นพ.ทวี อธิบายว่า ในคนปกติ หลอดเลือดแดงใหญ่ ที่สูบฉีดเลือดสู่หัวใจ จะพาดผ่านไปยังช่องอก ช่องท้อง และขาทั้งสองข้าง ทำหน้าที่เหมือนท่อหลักของน้ำประปา หลอดเลือดที่โป่งพอง เป็นความผิดปกติที่มักเกิดในกลุ่มผู้สูงอายุ เพราะเนื้อเยื่อต่างๆ เริ่มเสื่อมสลาย ความแข็งแรงของหลอดเลือดน้อยลง  นอกจากนี้ยังพบว่า อาการหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง อาจเกี่ยวพันกับโรคหัวใจ โรคความดันสูง ไขมันในเลือดสูง และสูบบุหรี่ รวมทั้งอาจเกิดจากความพิการแต่กำเนิด ซึ่งเคยพบในเด็ก แต่มีจำนวนน้อยมาก  



          ความน่ากลัวของโรคนี้ คือ ผู้ป่วยจะไม่มีอาการใดๆ ทำให้ไม่รู้ตัว ผู้ป่วยหลายรายมักตรวจพบโดยบังเอิญ จากการไปตรวจร่างกาย หรือหากมีอาการ ก็คืออยู่ในภาวะอันตราย คือ เจ็บหน้าอก เจ็บหลัง ปวดท้องอย่างเฉียบพลัน ซึ่งเป็นอาการในภาวะเร่งด่วน อันตราย เสี่ยงต่อการเสียชีวิต  ส่วนการรักษา หากพบว่าโป่งพองเป็นก้อนเล็ก ก็ใช้วิธีเฝ้าระวัง และดูแลสุขภาพเพื่อลดความเสี่ยง หากพบก้อนใหญ่ต้องผ่าตัดเพื่อใส่หลอดเลือดเทียม และต้องระวังอย่าให้หลอดเลือดแตก เพราะโอกาสรอดชีวิตมีน้อย  ซึ่งในผู้ป่วยที่เสียชีวิตรายนี้ ก็ทราบมาก่อนว่าตัวเองมีโรคดังกล่าว





         ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประธานคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ยืนยันว่า วัคซีน 2 ชนิดที่นำมาใช้ฉีดในไทย คือ ซิโนแวค และแอสตราเซเนกา มีความปลอดภัย รวมทั้งระบบติดตามอาการหลังฉีด ก็มีประสิทธิภาพ มีมาตรฐานระดับสากล โดยมีขั้นตอน คือ หลังฉีดวัคซีน 30 นาที เฝ้าดูอาการ ณ สถานที่ฉีด  หลังจากนั้นมีการติดตามอาการ  ทุกวันที่ 1 วันที่ 3 และวันที่  7 หลังฉีด



          ซึ่งเมื่อเกิดอาการผิดปกติ อาการไม่พึงประสงค์ หรืออาการแพ้หลังฉีดวัคซีน จะมีการสอบสวนข้อเท็จจริงโดยคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่า มีความเกี่ยวข้องกับการรับวัคซีนหรือไม่  ซึ่งเป็นระบบเดียวกับที่ทั่วโลกใช้เช่นกัน แล้วรายงานข้อมูลข้อเท็จจริงให้ประชาชนรับทราบ โดยไม่มีการปิดบังข้อมูล ซึ่งกรณีผู้เสียชีวิตรายนี้ มั่นใจว่า ไม่เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19



          ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า นับตั้งแต่มีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทั่วโลก จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีรายงานการเสียชีวิตโดยตรงจากวัคซีนแม้แต่รายเดียว และวัคซีนที่ไทยใช้ ก็มีรายงานการแพ้แบบรุนแรงน้อยมาก ดังนั้นจึงถือว่าสบายใจและรับวัคซีนได้แบบไม่ต้องกังวล



          ส่วนลักษณะอาการที่เกิดขึ้นหลังฉีดวัคซีน จะแบ่งเป็น



- อาการไม่พึงประสงค์  เป็นอาการทุกชนิดที่เกิดขึ้นหลังฉีดวัคซีน ซึ่งไม่รุนแรง เช่น เป็นลมเพราะกลัวการฉีดยา  เวียนศีรษะ เป็นต้น



- อาการข้างเคียง ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับวัคซีน มีทั้งชนิดไม่รุนแรง เช่น ปวดกล้ามเนื้อเล็กน้อยบริเวณที่ฉีด   และอาการข้างเคียงแบบรุนแรง เช่น ชัก ซึ่งต้องมีการพิสูจน์ว่าเกิดจากวัคซีนหรือไม่ ซึ่งเป็นระบบตรวจสอบที่ใช้กันทั่วโลก



- อาการแพ้ มีทั้งแบบไม่รุนแรง และแบบรุนแรง โดยแบบรุนแรง เช่น แน่นหน้าอก เหนื่อย ปวดท้อง อาเจียน มีผื่นขึ้นตามตัว ซึ่งพบได้น้อย  







 

ข่าวทั้งหมด

X