*รมว.ยธ.เร่ง แจงนานาชาติเข้าใจมาตรา 112 ไม่ใช่ประเด็นการเมือง*

21 มกราคม 2558, 16:40น.


การดำเนินคดีกับกลุ่มหมิ่นสถาบัน  พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และรอง ผบ.สส. กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลได้แบ่งการดำเนินการต่อผู้ที่กระผิดประมวลกฎหมายอาฐามาตรา 112 เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.ติดตาม 2.ปราบปรามระยับยับยั้งเกี่ยวกับไอซีที 3.การดำเนินการระหว่างประเทศ และ 4.สร้างทัศนคติเข้าใจให้แก่คนไทย โดยงานทั้ง 4 กลุ่มต้องดำเนินการควบคู่กันไป และกระทรวงการต่างประเทศ ต้องเป็นที่นำข้อมูลทั้งหมดนี้ไปชี้แจงต่อนานาชาติ โดยเฉพาะเรื่องวัตถุประสงค์ของกฎหมาย ที่โดยปกติแล้วสถาบันฯไม่สามารถที่จะมาฟ้องร้องคนที่กล่าวละเมิด ฉะนั้นจึงต้องมีการตรากฎหมาย มาตรา 112 ขึ้นมาเพื่อให้รัฐบาลหรือเจ้าหน้ารัฐเป็นผู้กระทำการแทน แต่ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลจะรังแกคนเหล่านั้น รัฐบาลเพียงแต่ดำเนินการตามกฎหมายเท่านั้น



ส่วนที่ กลุ่มนายทหารนอกประจำการที่จงรักภักดีต่อสถาบันฯ จะไปยื่นหนังสือประท้วงกรณีที่ประเทศนิวซีแลนด์ได้ให้ที่พำนัก นายเอกภพ เหลือรา หรือตั้ง อาชีวะ ผู้ต้องหาในคดีความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่สถานทูตนิวซีแลนด์ประจำกรุงเทพฯว่า ถือเป็นการแสดงออกของคนไทย หากแสดงออกด้วยความสงบก็คงจะไม่เป็นไร แต่อย่างน้อยก็ทำให้ประเทศนิวซีแลนด์ และยูเอ็นเอชซีอาร์ ได้รับรู้ถึงความรู้สึกของคนไทย



การที่นายกฯได้สั่งการให้กระทรวงการต่างประเทศ ทำหนังสือชี้แจงความเป็นมาของผู้ที่เคลื่อนไหวเหล่านั้นไปยัง 7-8 ประเทศ เพื่อบอกว่าไม่ใช่เรื่องทางการเมือง แต่เป็นเรื่องกระทำผิดกฎหมายอาญาของไทย ผิดต่อสถาบันเบื้องสูง ที่เราเคารพและหวงแหน ก็เป็นการทำในความรู้สึกของคนไทยเช่นกัน ทั้งนี้เราคงไม่สามารถที่จะไปละเมิดเอกสิทธิ์และเคารพแนวทางของเขาด้วย แต่ประเทศนิวซีแลนด์และยูเอ็นเอชซีอาร์ รวมถึงประเทศอื่นๆ ต้องเข้าใจความรู้สึกของคนไทยด้วย โดยได้ประสานกับ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกฯ และ รมว.ต่างประเทศ ในเบื้องต้นแล้ว ซึ่งทางกระทรวงการต่างประเทศ ก็ตอบรับและขอให้เร่งส่งข้อมูลเพื่อนำไปแปลเป็นภาษาอังกฤษต่อไป โดยหลังจากที่ทำหนังสือชี้แจงไปแล้ว ก็ต้องมีการประสานพูดคุยกับประเทศต่างๆ เพื่อให้ได้รับทราบว่าประเทศต้องการอะไรในการพิจารณาส่งตัวผู้กระทำผิดกลับมาดำเนินคดีในประเทศไทย



ส่วนการตรวจสอบเส้นทางการเงินของกลุ่มผู้ที่กระทำผิด พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า มีการดำเนินการอยู่แล้ว โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ซึ่งไม่ได้เป็นการละเมิดสิทธิ แต่รัฐบาลมีอำนาจที่จะตรวจสอบในส่วนของผู้ที่กระทำผิดทางกฎหมาย  โดยเงินทุนที่สนับสนุนการเคลื่อนไหวของนายตั้ง อาชีวะ รวมไปถึงนายจักรภพ เพ็ญแข ผู้ต้องหาหมิ่นสถาบันเบื้องสูงนั้น ก็ยังมีเครื่องหมายคำถาม แต่ก็เป็นรู้ๆกันอยู่

ข่าวทั้งหมด

X