+++สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นัดประชุมวาระพิเศษตั้งแต่เวลา 10.00 น. เพื่อแถลงปิดสำนวนด้วยวาจาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้กล่าวหา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา ในคดีถอดถอน รวมถึงจะกำหนดวันแถลงเปิดคดีถอดถอนอดีต ส.ว. 38 คน ออกจากตำแหน่ง
+++นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมวิป สนช. ยังไม่กำหนดกรอบเวลาในการแถลงปิดสำนวนคดีถอดถอนบุคคลทั้ง3คนรวมทั้งน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ในวันพรุ่งนี้ด้วย เบื้องต้นอาจอนุโลมและยืดหยุ่นในกรอบเวลา ซึ่งป.ป.ช. ผู้กล่าวหา จะเป็นผู้แถลงปิดคดีก่อน ก่อนที่จะเป็นการแถลงผู้ถูกกล่าวหา ทราบว่านายนิคมจะเดินทางเข้าร่วมการแถลงด้วยตัวเอง แต่นายสมศักดิ์จะไม่เดินทางมาแถลงปิดสำนวนคดี
+++ส่วนการลงมติถอดถอนในวันที่ 23 ม.ค.จะเป็นการลงคะแนนในทางลับ โดยจะเป็นไปตามข้อบังคับการประชุม สนช. ด้วยวิธีเข้าคูหา กาบัตรลงคะแนน 2 รอบ รอบแรกจะแจกบัตรลงคะแนนในสำนวนของนายนิคมและนายสมศักดิ์ เพื่อให้สมาชิกลงคะแนนไปพร้อมกัน 2 ใบ โดยบัตรลงคะแนนสำนวนถอดถอนนายนิคม กำหนดให้ใช้บัตรสีชมพู ขณะที่ บัตรลงคะแนนสำนวนถอดถอนนายสมศักดิ์ กำหนดให้ใช้บัตรสีเขียว จากนั้น จะตั้งคณะกรรมการนับคะแนน 10 คน แบ่งการทำงานออกเป็น 2 ชุด เมื่อทราบมติว่าถอดถอนหรือไม่แล้ว จะดำเนินการแจ้งมติต่อที่ประชุม ก่อนเริ่มกระบวนการลงมติถอดถอนคดี นส.ยิ่งลักษณ์ โดยจะแจกบัตรลงคะแนนให้สมาชิกลงมติเช่นเดียวกัน คาดว่า การลงมติทั้ง 3 สำนวน จะใช้เวลาทั้งสิ้นไม่เกิน 3 ชั่วโมง
+++หลังจากที่ป.ป.ช. มีมติ 7:0 เนื่องจากกรรมการ ป.ป.ช. 2 คนคือ พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง และ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ ได้ขอถอนตัวจากการทำคดีตั้งแต่ต้น มีมติว่านายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมพวก จำนวน 21 คน ที่มีทั้งข้าราชการ นักการเมืองและภาคเอกชน ทุจริตโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าว โดยส่งผลการพิจารณาไปยังต้นสังกัด เพื่อลงโทษทางวินัยและส่งความเห็นไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญากับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นายวิชา มหาคุณ กรรมการป.ป.ช. เปิดเผยว่า การลงมติไม่เกี่ยวข้องกับการที่ สนช. จะมีมติพิจารณาถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ส่วนผู้ที่กระทำความผิดเป็นนักการเมือง ยังไม่ถึงขั้นยึดทรัพย์ เพราะยังไม่ได้ไต่สวนในขั้นตอนดังกล่าว โดยผลสรุปของคณะกรรมการ ป.ป.ช.วันนี้ จะแจ้งให้นายกรัฐมนตรีรับทราบเพื่อดำเนินการต่อไป
+++กรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่า ผู้ที่ถูกกล่าวทั้งหมด จำนวน 21 คน แบ่งเป็นนักการเมือง 3 ข้าราชการ 3 เอกชน 15 ราย เช่น นายบุญทรง นายภูมิ สาระผล พ.ต.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ อดีตผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีพาณิชย์ นายมนัส สร้อยพลอย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ นายทิฆัมพร นาทวรทัต เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักการค่าต่างประเทศตลอดจน นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร กรรมการบริษัทสิราลัย เป็นต้น ซึ่งบริษัททั้งหมด ไม่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลจีน ให้เข้ามาทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ จำนวน 6.5 หมื่นตัน วงเงิน 847 ล้านบาท โดยไม่ต้องแข่งขันราคากับผู้เสนอราคารายอื่นแล้วนำข้าวที่ซื้อได้ในราคาที่ต่ำ ไปขายต่อให้กับผู้ประกอบการค้าข้าวในประเทศ จากนั้นยังนำไปให้บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด นำไปขายต่ออีกทอดหนึ่ง ก่อให้เกิดความเสียหายแก่กรมการค้าต่างประเทศ และประเทศชาติ จึงมีมติว่า ทั้งหมดได้ร่วมกันกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจตริต พ.ศ. 2542 และให้ส่งรายงานเอกสารและความเห็นไปยัง ผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกกล่าวหา ที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อพิจารณาโทษทางวินัย
+++ป.ป.ช.ให้ส่งรายงานและความเห็นอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินคดีอาญา กับผู้ถูกกล่าวหา
+++ส่วนผู้ถูกกล่าวหารายอื่น ให้อนุกรรมการไต่สวน ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงโดยเร็วต่อไป ยังมีมติเพิ่มเติมด้วยว่า ให้นำข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว ให้ ป.ป.ช.ไปศึกษา เพื่อกำหนดมาตรการ ป้องกันการทุจริต ในโครงการของรัฐ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามเรื่องการชดใช้ค่าเสียหาย โดยให้กระทรวงการคลัง กำหนดตัวเลขค่าความเสียหายที่ชัดเจน
+++แจ้งให้กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง ตรวจสอบธุรกรรมทางการเงิน ตลอดจนการชำระภาษีของผู้ถูกกล่าวหารวมถึงผู้เกี่ยวข้อง ที่สั่งจ่ายแคชเชียร์เช็คให้กับกรมการค้าต่างประเทศ และให้รวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมว่า ในสมัยรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ มีการซื้อขายมันสำปะหลังในแบบสัญญาซื้อขายรัฐต่อรัฐ หรือไม่ และนำเสนอ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาต่อไป
+++นอกจากนี้ ยังให้ไต่สวนข้อเท็จจริงว่านางปราณี ศิริพันธ์ ขณะเป็นอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เกี่ยวข้องและกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือไม่ โดยให้นายประสาท พงษ์ศิวาลัย เป็นประธานคณะกรรมการไต่สวน และน.ส.สุภา ร่วมเป็นกรรมการด้วย
+++ส่วนคณะทำงานร่วมระหว่างป.ป.ช. กับ อัยการสูงสุด เพื่อพิจารณาหาข้อไม่สมบูรณ์ในคดีอาญาจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการป.ป.ช. กล่าวว่า ที่ประชุมคณะทำงานร่วมประชุมเป็นนัดสุดท้าย ซึ่งได้มีการนำข้อไม่สมบูรณ์ที่มีอยู่และพยานหลักฐานที่ ป.ป.ช.ได้สอบเพิ่มเติมมาพิจารณาในที่ประชุม ในที่สุดคณะทำงานร่วมทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันว่าข้อสมบูรณ์ในคดีนี้ ขณะนี้ได้มีพยานหลักฐานครบถ้วนแล้ว ขั้นตอนหลังจากนี้คณะทำงานร่วมฯจะส่งเรื่องไปให้ อสส. พิจารณาสั่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต่อไป อสส.จะดำเนินการเรื่องนี้โดยเร็วภายในไม่กี่วันนี้ ขอให้ติดตามท่าทีจาก อสส.ว่าจะสั่งฟ้องคดีได้เมื่อใด
+++การประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกกต. เปิดเผยว่า กกต. ยังไม่มีการพิจารณากรณีฟ้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ที่ทำให้การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2557 เป็นโมฆะ มูลค่าความเสียหาย 3,000 ล้านบาท เนื่องจากเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง รวบรวมพยานหลักฐานไม่แล้วเสร็จเห็นว่า เรื่องดังกล่าวต้องค่อย ๆ ทำและต้องพิจารณาให้รอบคอบเพราะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน และเกี่ยวข้องกับคนหลายฝ่าย ส่วนจะเลื่อนการพิจารณาไปถึงเมื่อใดนั้น คงต้องเลื่อนไปจนกว่าคณะทำงานจะรวบรวมพยานหลักฐานได้ครบถ้วน
+++การเปิดสัมปทานปิโตรเลียมครั้งที่ 21 นายกฯ ยืนยันว่า พร้อมรับฟังทุกความเห็น รวมถึงข้อ เสนอของสภาปฎิรูปแห่งชาติ(สปช.) เพื่อนำมาประกอบคำพิจารณาหาแนวทางการปฏิบัติที่ดีที่สุด ทั้งการสัมปทานและแบ่งผลประโยชน์ เพราะขณะนี้ยังมีเวลาที่จะพิจารณาถึงทางเลือก และไม่ต้องการให้เกิดข้อถกเถียงหรือทะเลาะในเรื่องพลังงานอีก รัฐบาลจำเป็นต้องเดินหน้าสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ที่จำเป็นต้องหาให้ได้ก่อน 5-6 ปีข้างหน้า และถึงแม้กระทรวงพลังงานจะทำการสำรวจ แต่ยังมีเวลา 5-6 เดือนที่จะให้ภาคเอกชนที่สนใจเข้าร่วมลงทุนกับรัฐบาลได้เสนอแนวทางว่าจะใช้รูปแบบของการสัมปทาน หรือการแบ่งผลประโยชน์ในการร่วมลงทุนด้านพลังงานกับรัฐบาล
+++ปัจจุบันภัยคุกคามทางไซเบอร์มีเพิ่มมากและรุนแรงอาจส่งผลกระทบสร้างความเสียหายต่อประเทศได้ ดังนั้นจึงควรตั้งคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กปช.) คณะรัฐมนตรี(ครม.) ไฟเขียว รับร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ มีทั้งหมด 43 มาตรา นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เปิดเผยว่า ต้องส่งไปยังกฤษฎีกาเพื่อให้ตรวจ แล้วจะมีข้อสังเกตของแต่ละกระทรวงติงเข้ามาในแต่ละเรื่อง ส่วนเรื่องสิทธิมนุษยชน ก็มีเข้ามาเช่นกัน อยู่ที่ว่ากฤษฎีกาจะพิจารณาอย่างไร จึงจะเข้ามา ครม. อีกครั้ง
+++กรณีเงินของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หรือ สจล. ถูกยักยอกไปกว่า 1,600 ล้านบาท พบว่ามีนายกิตติศักดิ์ มัทธุจัด เป็นผู้ต้องหาคนสำคัญในการยักยอกเงินที่อยู่ระหว่างหลบหนี ต่อมาสืบสวนพบมีการนำเงินไปฟอกเปิดบริษัทต่างๆ รวมถึงซื้อบ้านหรูและรถยนต์ ประกอบกับ บอย-ปกรณ์ ฉัตรบริรักษ์ ได้ซื้อรถหรู ลัมโบร์กินีต่อจากนายกิตติศักดิ์ วันนี้ เวลา 10.30 น. บอย -ปกรณ์ จะเดินทางเข้าชี้แจงกับเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน( ปปง.) หลังถูก ปปง.สั่งยึดอายัดรถยนต์ลัมโบร์กินี โดยให้มาชี้แจงภายใน 90 วัน หากชี้แจงได้ถึงที่มาที่ไป ปปง.ก็จะเสนอคณะกรรมการธุรกรรมเพิกถอน แต่ถ้าชี้แจงไม่ได้ก็จะส่งศาลให้ยึดทรัพย์เป็นของแผ่นดินต่อไป