!-- AdAsia Headcode -->

สถาบันประสาทวิทยา เผย “อาการขาอยู่ไม่สุข” เกิดบ่อยในช่วงกลางคืน ทำคุณภาพการนอนแย่ลง ผู้ป่วยที่มีอาการควรรีบพบแพทย์

01 มิถุนายน 2563, 16:40น.


            เคยไหม? ตกกลางคืนเข้านอนอยู่ดีๆ เหมือนมีอะไรมาไต่ที่ขาแต่พอแตะไปแล้วกลับไม่เห็นมีอะไร หรือบางคนไม่ขาก็แขนกระตุกขึ้นมาได้ จากที่กำลังหลับฝันดีทำเอาตาสว่างเลยเชียว ซึ่งหากคุณมีอาการแบบนี้ทุกคืนอย่ามองข้ามล่ะ เพราะมันกำลังทำลายคุณภาพการนอนของคุณให้แย่ลง!! ด้วยความห่วงใยจากกรมการแพทย์โดยสถาบันประสาทวิทยาจึงได้ออกมาอธิบายเกี่ยวกับอาการขาอยู่ไม่สุข พร้อมแนะนำผู้ป่วยมีอาการเช่นนี้ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจประเมินอาการ

            “อาการขาอยู่ไม่สุข” ทำให้คุณภาพการนอนแย่ลง


            การที่เรานอนๆ อยู่แล้วรู้สึกว่ามีอะไรมาไต่ที่ขา ขาหรือแขนกระตุกนั้น จริงๆ แล้วจัดอยู่ในกลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุขหรือโรค (RLS) RESTLESS LEG SYNDROME ซึ่งจะมีการรับรู้ผิดปกติบริเวณขา อาการที่เกิดขึ้นมักอยู่ในช่วงเอนตัวนอนโดยเฉพาะเวลากลางคืน ผู้ป่วยจะรู้สึกว่าต้องขยับขา ลุกขึ้นเดิน เพื่อลดอาการ เป็นเหตุให้ผู้ป่วยต้องตื่นกลางดึกอยู่บ่อยๆ ซึ่งสามารถพบได้ทั้งคนหนุ่มสาวและผู้สูงอายุโดยที่ระดับความรุนแรงของโรคจะไม่แตกต่างกัน และส่วนใหญ่จะพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชายถึงสองเท่า นอกจากนี้ยังพบในผู้ที่เป็นโรคไตและผู้ที่มีภาวะซีดจากการขาดธาตุเหล็กด้วย

            แล้วอาการขาอยู่ไม่สุขเกิดขึ้นจากสาเหตุใด?

            สำหรับอาการขาอยู่ไม่สุขเกิดจากสารเคมีที่สมองสร้างที่เรียกว่าโดพามีนมีปริมาณน้อยลง โดยอาจเป็นจากภาวะความเจ็บป่วยบางอย่าง เช่น โรคพาร์กินสัน หรือการได้รับยาที่ทำให้โดพามีนในร่างกายลดลง หรือระบบรักษาสมดุลของธาตุเหล็กในร่างกายผิดปกติ



            การรักษาอาการขาอยู่ไม่สุข

            ในส่วนของผู้ป่วยที่มีอาการขาอยู่ไม่สุขควรมาพบแพทย์เพื่อประเมินและหาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ โดยก่อนเริ่มให้การรักษาจะต้องทำการการประเมินซึ่งจะมีเป็นภาวะซีด ภาวะการขาดธาตุเหล็ก การทำงานของไต และระบบประสาท และจะให้ยาในการรักษาเพื่อเพิ่มสารโดพามีนในกระแสเลือด ลดอาการผิดปกติที่ขาและขากระตุก

            แม้ว่าอาการขาอยู่ไม่สุขจะเป็นอาการที่ไม่อันตราย แต่ถึงกระนั้นก็ทำให้คุณภาพชีวิตในการนอนลดลงเนื่องจากต้องตื่นกลางดึกบ่อยๆ อาจนอนต่อแล้วไม่หลับ ดังนั้น จึงควรหมั่นสังเกตความผิดปกติของตนเองหากพบว่ามีอาการควรรีบมาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจประเมินรวมถึงพาคนใกล้ชิดมาพบแพทย์ด้วยเพื่อจะได้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการรักษา ช่วยให้คุณภาพชีวิตการนอนดีขึ้น



ข้อมูล : กรมการแพทย์โดยสถาบันประสาทวิทยา



 

X