!-- AdAsia Headcode -->

กฟน. ปลดป้ายรถรางสุดท้ายของไทย ปิดตำนานขนส่งมวลชนระบบรางสายแรกแห่งสยาม

04 มีนาคม 2562, 12:47น.


     วันนี้ (4 มีนาคม 2562) เรืออากาศตรีสำเริง เชี่ยวชูกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เป็นประธานในพิธีปลดป้ายรถราง ป้ายสุดท้าย ของประเทศไทย ณ บริเวณเวิ้งนาครเขษม ถนนเยาวราช ซึ่ง กฟน.นับเป็นหนึ่งในหน่วยงานประวัติศาสตร์การให้บริการระบบขนส่งมวลชนระบบรางสายแรกแห่งทวีปเอเชีย พร้อมมีแผนนำป้ายรถรางดังกล่าวไปจัดแสดง ณ ศูนย์การเรียนรู้ พิพิธภัณฑ์ การไฟฟ้านครหลวง ในอนาคต




     ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เปิดเผยว่า กิจการรถรางในอดีตของประเทศไทย เปิดให้บริการครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2436 ซึ่งถือได้ว่าเป็นรถรางไฟฟ้าแห่งแรกในทวีปเอเชีย ทำให้ประเทศไทยมีรถรางไฟฟ้าใช้ก่อนหน้าประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำหลายประเทศ โดยบริษัท Short Electric Railway Company จากประเทศสหรัฐอเมริกา จนกระทั่งปี พ.ศ.2492 การสัมปทานเดินรถได้สิ้นสุดลง รัฐบาลในขณะนั้นจึงเข้ามาดำเนินกิจการต่อในนามของ บริษัท การไฟฟ้ากรุงเทพฯ จำกัด ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2493 โดยเปิดให้บริการรถรางจำนวน 8 เส้นทาง ได้แก่ 1.สายบางซื่อ 2.สายสามเสน 3.สายบางคอแหลม 4.สายหัวลำโพง 5. สายปทุมวัน 6.สายสีลม 7.สายดุสิต และ 8. สายร่วมฤดี กฟน. ซึ่งเป็นองค์กรที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน โดยเกิดจากการควบรวมระหว่าง การไฟฟ้ากรุงเทพ และ กองไฟฟ้าหลวงสามเสน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2501 กฟน. จึงได้มาบริหารกิจการรถรางต่อ ซึ่งต่อมากิจการประสบภาวะขาดทุน อีกทั้งจำนวนรถยนต์ที่เพิ่มความนิยมมากขึ้นเป็นลำดับ จนกระทั่ง ในปี พ.ศ. 2504 รัฐบาลจึงมีมติให้เลิกเดินรถราง แต่เพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนประชาชนและพนักงานรถราง จึงให้ กฟน. พิจารณาเลิกเดินรถรางทีละสาย จนกระทั่งยกเลิกรถรางสายสุดท้ายในปี พ.ศ. 2511 ตลอดระยะเวลา 80 ปี แห่งกิจการการเดินรถรางในประเทศไทย จึงกลายเป็นเพียงอดีตที่อยู่ในความทรงจำ




     ซึ่งในวันนี้ กฟน. ได้จัดพิธีปลดป้ายรถราง ป้ายสุดท้าย ของประเทศไทย ณ บริเวณเวิ้งนาครเขษม ถนนเยาวราช เพื่อรำลึกถึงประวัติศาสตร์ของ กฟน. และต้นกำเนิดระบบขนส่งมวลชนทางรางแห่งแรกของทวีปเอเชีย เพื่อให้องค์กรภาคเอกชนได้ดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นไปอย่างเหมาะสม สอดคล้องกับยุคสมัย ทั้งนี้ กฟน. จะนำป้ายรถรางป้ายสุดท้ายนี้ ไปจัดแสดงไว้ในศูนย์การเรียนรู้ พิพิธภัณฑ์ การไฟฟ้านครหลวง เพื่อเป็นการอนุรักษ์หลักฐานทางประวัติศาสตร์และเป็นการระลึกถึงประวัติศาสตร์รถรางที่เคยรุ่งเรืองต่อไป




     "ด้วยป้ายรถรางป้ายดังกล่าวเป็นป้ายสุดท้ายของประเทศไทย จึงมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ประกอบกับบริเวณที่ติดป้ายรถรางนั้น เป็นพื้นที่ของเอกชนที่กำลังอยู่ในระหว่างการปรับปรุงพื้นที่ ซึ่งอาจทำให้ป้ายรถรางดังกล่าวชำรุด เสียหาย ได้ กฟน. จึงได้ดำเนินการปลดป้ายดังกล่าวออก เพื่อเก็บรักษาเป็นมรดกทางประวัติศาสตร์ และจะจัดแสดงที่ศูนย์การเรียนรู้ พิพิธภัณฑ์ การไฟฟ้านครหลวง ในอนาคตต่อไป" กฟน. อธิบายเพิ่มเติม


X