!-- AdAsia Headcode -->

รู้จัก-รับมือ ฝุ่น PM2.5 ‘สารก่อมะเร็ง’ คร่าชีวิตคนไทยกว่า 50,000 คนต่อปี

11 มกราคม 2562, 12:51น.


        ปัญหาอากาศเป็นมลพิษ หรือฝุ่นละอองขนาด 2.5 ไมครอน (PM2.5) ไม่ควรถูกมองว่าเป็นเรื่องเล็ก เพราะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของทุกคนได้โดยตรง ด้วยมีขนาดเล็กจนขนจมูกไม่สามารถกรองได้ และยังถูก WHO กำหนดอย่างเป็นทางการให้ PM2.5 อยู่ในกลุ่มที่ 1 ของสารก่อมะเร็งในปี พ.ศ.2556 คร่าชีวิตคนไทยไปกว่า 50,000 คนต่อปี





        ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน คืออะไร

        เป็นฝุ่นที่เกิดจากแหล่งกำเนิดโดยตรง และเกิดจากการรวมตัวของก๊าซและมลพิษอื่นในบรรยากาศ เช่น ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และออกไซด์ของไนโตรเจน ทั้งยังปนเปื้อนสารอันตรายที่รู้จักกันดี เช่น ปรอท แคดเมียน อาร์เซนิก โดยมีแหล่งกำเนิดหลักจากการเผาในที่โล่งของภาคการเกษตร การผลิตไฟฟ้า อุตสาหกรรม และการขนส่ง





        ส่งผลกระทบต่อผู้คนอย่างไรบ้าง

        ฝุ่นละอองขนาดเล็กสามารถก่อให้เกิดอันตรายอย่างรุนแรงต่อสุขภาพผู้คน เนื่องจากเข้าสู่ร่างกายทางระบบทางเดินหายใจ จึงทำลายอวัยวะของระบบทางเดินหายใจโดยตรง และยังทำให้เกิดการระคายเคืองตา ระคายคอ แน่นหน้าอก หลอดลมอักเสบ หอบหืด หรือทำให้เกิดโรครุนแรงอย่าง โรคหลอดเลือดในสมอง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคถุงลมโป่งพอง โรคมะเร็งปอด และโรคหัวในขาดเลือด ซึ่งมีผลต่อการลดอายุขัยเฉลี่ยของประชาชนลง และเป็นที่มาของการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเนื่องจากอาการเจ็บป่วยจากโรคต่าง ๆ เพิ่มขึ้น





        นอกจากควบคุมค่า PM2.5 ในภาคการผลิตไฟฟ้า อุตสาหกรรม การขนส่ง ประชาชนทั่วไปจะมีส่วนร่วมอย่างไร

        พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ออกมาตรการแก้ไขปัญหา โดยส่วนหนึ่งได้ขอความร่วมมือให้ผู้ขับขี่รถยนต์หมั่นตรวจเช็คสภาพรถให้อยู่ในสภาพดี ไม่สร้างควันดำ และขอให้งดเว้นการเผาขยะ กิ่งไม้ หญ้าแห้ง ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก นอกจากนี้ยังสามารถมีส่วนร่วมได้ด้วยการหันมาใช้ระบบการขนส่งสาธารณะให้มากขึ้น หรือใช้ยานยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น รถยนต์ Eco Car

        ข้อมูลจาก : กรมควบคุมมลพิษ , Greenpeace Thailand



 

X