!-- AdAsia Headcode -->

"สู้ ๆ นะ" ไม่ใช่คำพูดที่ทำให้อะไร ๆ ดีขึ้น ในยามผิดหวัง เสียใจ

11 กรกฎาคม 2561, 19:00น.


        ช่วงนี้คงจะมีน้อง ๆ ที่กำลังตื่นเต้น ดีใจ กับผลTCAS ที่เพิ่งประกาศออกมาได้ไม่นาน และก็เชื่อว่ายังมีอีกหลายคนที่รู้สึกผิดหวัง เสียใจกับมันด้วยเช่นกัน ส่วนหนึ่งที่ทำให้ความรู้สึกผิดหวัง เสียใจนี้ยังคงอยู่ และอาจคงอยู่ตลอดไปเลยก็คือ "คำคน" โดยเฉพาะพ่อแม่ ที่มักจะพูดออกมาโดยไม่ระมัดระวัง หรือในบางคำพูดเหมือนจะเป็นการให้กำลังใจแต่ทำไมคนฟังถึงไม่ได้รู้สึกแบบนั้น? ซึ่งนอกจากจะบั่นทอนจิตใจ ไม่สร้างสรรค์แล้ว ยังอาจทำให้ชีวิตหนึ่งต้องจบลงเพียงเพราะคำพูดไม่กี่คำอีกด้วย และอะไรคือสิ่งที่ควรระมัดระวังที่สุดในยามผิดหวัง เสียใจ แล้วคำว่าสู้ ๆ นะ ไม่ได้ช่วยให้คนฟังรู้สึกดีขึ้นในวันที่ผิดหวังจริงหรือ ?  เรามีคำตอบรวมถึงคำแนะนำดี ๆ จาก อ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร มาฝากค่ะ

        อะไรคือสิ่งที่ควรระมัดระวังที่สุดในยามผิดหวัง เสียใจ

        อ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์วัยรุ่น คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้คำแนะนำว่า “สำหรับคุณพ่อ คุณแม่ สิ่งที่เราควรต้องระมัดระวังเลยก็คือ คำพูดของเรา เพราะคำพูดบางทีถ้ามันถูกพูดในวันที่ธรรมดา ไม่ได้แย่อะไร มันก็อาจจะเป็นคำที่ไม่รุนแรง แต่ถ้ามันไปอยู่ในวันที่น้อง ๆ บางคนกำลังรู้สึกผิดหวัง เสียใจ คำพูดเพียงเล็กน้อยบางคำมันก็อาจเป็นสิ่งที่สร้างความรู้สึกแย่ ความรู้สึกล้มเหลว จนทำให้น้อง ๆ เศร้าได้มากกว่าเดิม จึงควรพยายามหลีกเลี่ยงคำพูดที่ทำให้ลูกรู้สึกแย่ เช่น บอกแล้วไงว่าให้อ่านหนังสือเยอะ ๆ, เป็นยังไงล่ะ มัวแต่เล่นเกมอยู่ได้ ฯลฯ



        คำที่ไม่ได้ช่วยให้รู้สึกดีขึ้นในวันที่ลูกผิดหวัง

        คำบางคำถึงแม้จะฟังดูเป็นการให้กำลังใจ หรือพูดออกมาจากใจจริง ก็ไม่ได้หมายความว่าคนฟังจะรู้สึกตาม หรือคิดอย่างนั้น ซึ่งผลลัพธ์มันอาจจะไม่ช่วยอะไรเลยก็ได้ แล้วมันมีคำว่าอะไรบ้าง ? ที่ไม่ได้ช่วยให้รู้สึกดีขึ้นในวันที่ผิดหวัง ไปดูกันค่ะ

        “ไม่เป็นไรหรอก

        “แค่นี้เอง

        “ปีหน้าก็สอบใหม่

        “สู้ๆ เป็นกำลังใจให้

        ฯลฯ

        คำพูดเหล่านี้ไม่ได้ทำให้น้อง ๆ รู้สึกดีขึ้นเท่าไรนะคะ



        “สู้ ๆนะ ไม่ได้ช่วยให้คนฟังรู้สึกดีขึ้นในวันที่ผิดหวัง จริงหรือ?

        อ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กล่าวว่า “สู้ ๆ นะ” ไม่ได้เป็นคำพูดที่ทำให้คนที่ผิดหวัง เสียใจ รู้สึกอยากลุกขึ้นมาสู้จริง ๆ  การที่บอกว่าสู้ ๆ นะ เหมือนเป็นคำพูดที่แค่ช่วยให้คนพูดมีความรู้สึกว่าเหมือนได้พูดอะไรสักอย่างออกไป แต่คนฟังไม่ได้รู้สึกว่าคนพูดเข้าใจสิ่งที่กำลังรู้สึกอยู่จริง ๆ



        แล้วถ้าลูกผิดหวังเราสามารถช่วยอะไรได้บ้าง ?

        อ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร แนะนำว่า “เมื่อลูกของเราผิดหวังสิ่งที่ดีที่สุด คือ การรับฟัง ให้เค้ารู้สึกว่าเรากำลังรับฟังเค้าจริงๆ การฟังจริง ๆ คือ ฟังโดยไม่ต้องตัดสินแต่ให้ฟังโดยแสดงความเข้าใจ เช่น “ตอนนี้หนูกำลังรู้สึกยังไงลูก” “แม่เข้าใจเลยที่หนูรู้สึกเศร้า เป็นแม่แม่ก็คงเศร้าเหมือนกัน” “ไม่เป็นไร ร้องไห้ออกมาเลยลูก” “แม่กอดนะ” “ร้องไห้ออกมากับแม่ได้เลย” “อยากให้แม่ช่วยอะไรมั้ย” ฯลฯ คำพูดเหล่านี้น่าจะเป็นคำพูดที่ทำให้น้อง ๆ ดีขึ้น รู้สึกว่ามีคนเข้าใจ ในขณะเดียวกันก็พยายามชวนให้เค้ามองในแง่บวก แล้วก็ทำให้เด็ก ๆ มีวิธีคิดที่ดีขึ้น”



        สำคัญที่สุด อย่าเปรียบเทียบกับลูกคนอื่น!!

        อ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร ยังได้ให้คำแนะนำอีกว่า “สิ่งสำคัญอีกอย่างที่ทำร้ายลูกมาก ๆ เลยก็คือ การเปรียบเทียบ (กับลูกคนอื่น) “ทำไมบ้านนั้นติดล่ะ แล้วทำไมเราไม่ติด” “หนูเรียนเก่งกว่าเค้าอีก ทำไมเค้ายังติดเลยแต่หนูไม่ติด” คำพูดพวกนี้ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไรเลย โดยเฉพาะในปีนี้ความติด/ไม่ติดที่ไหน มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับแค่ความรู้ หรือความสามารถ มันไปขึ้นอยู่กับระบบ กับปัจจัยอื่น ๆ อีกหลายอย่าง ที่น้อง ๆ ไม่สามารถควบคุมมันได้ ดังนั้น พ่อแม่ไม่ควรตั้งคำถามว่าทำไมแต่ให้ทำความเข้าใจว่ามันเกิดขึ้นแล้วแล้วเราจะเผชิญกับมันยังไงมากกว่า เพราะการเปรียบเทียบไม่ได้ทำให้ลูกอยากลุกขึ้นมาทำอะไร



        แน่นอนว่าไม่มีอะไรจะดีไปกว่ากำลังใจ หรือคำปลอบใจที่มีให้กันจากพ่อแม่คนที่เรารักและรักเรามากที่สุด วันนี้เราอาจจะผิดหวัง เสียใจในสิ่งที่ไม่สามารถทำให้สำเร็จอย่างใจหวังได้ แต่เชื่อเถอะว่าตราบใดที่เรายังมีลมหายใจรวมถึงยังมีพ่อมีแม่ที่อยู่ข้างกัน คอยรับฟังกันอย่างเข้าใจ ต่อให้ต้องล้มอีกสักกี่ครั้งก็ลุกขึ้นใหม่ได้เสมอ เราขอเป็นกำลังใจให้กับน้อง ๆ ทุกคนนะคะ

        ที่มา  : Facebook Page : We Mahidol

        รูปภาพ  : huffingtonpost.com, novy.tv, lausdeo.world, christianpodcastcentral.com

X