!-- AdAsia Headcode -->

"บัตรแมงมุม" ตั๋วร่วม ถึงไหนแล้ว? ใช้กับอะไร? เมื่อไร?

17 พฤษภาคม 2559, 15:24น.


นายเผด็จ ประดิษฐ์เพชร รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม เปิดเผยความคืบหน้า สรุปประเด็นได้ดังนี้


ความคืบหน้าของโครงการตั๋วร่วม หรือบัตรแมงมุม(MANGMOOM)


ขณะนี้ระบบศูนย์บริหารจัดการรายได้กลางในภาคขนส่ง (Central Clearing House) ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญเสร็จสิ้นแล้ว อยู่ระหว่างทดสอบระบบและประมวลผลในห้องแลป ซึ่งคาดว่าจะเสร็จในเดือนสิงหาคม




เครดิตภาพ : สำนักงานโยบายและแผนการขนส่งและจราจร


บัตรแมงมุมใช้กับอะไรได้บ้าง แบ่งเป็น 3 ส่วน


      1. ระบบรถไฟฟ้า ประกอบด้วย รถไฟฟ้า(BTS) รถไฟฟ้าใต้ดิน(MRT) รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงค์(APL) และรถไฟฟ้าสายสีม่วง(เปิดให้บริการ 6 ส.ค.) ซึ่งแต่ละหน่วยงานจะต้องมีการปรับปรุงระบบหัวอ่าน(Reader) ให้รองรับกับบัตรแมงมุม โดย BTS MRT และAPL คาดทั้งหมดใช้เวลา 6 เดือน ยกเว้นรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่อาจจะเร็วกว่า

      2. ระบบคมนาคมที่ต้องติดตั้งเครื่องอ่านใหม่ เช่น ทางด่วน รถโดยสาร เรือโดยสาร ฯลฯ ซึ่งแต่ละหน่วยงานจะต้องติดตั้งเครื่องอ่านเพิ่ม ในช่องเก็บค่าผ่านทางปกติ ไม่เกี่ยวกับช่องผ่านทางในระบบ Easy Pass หรือ M-Pass เดิมที่มีอยู่

      3. ชำระสินค้าและบริการนอกภาคขนส่ง เช่น ร้านสะดวกซื้อ ที่จอดรถ ฯลฯ ซึ่งอาจใช้บัตรของแต่ละธนาคาร หรือใช้โทรศัพท์มือถือ(Mobile Payment) แทนการใช้บัตรแมงมุมโดยตรงได้ ซึ่งระยะเวลาการเริ่มให้บริการ ขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละหน่วยงาน




เครดิตภาพ : สํานักงานโครงการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม


ในอนาคตรถไฟฟ้าสายใหม่ๆ จะรองรับระบบตั๋วร่วมเลยไหม

สนข. ดำเนินการแจกจ่ายเอกสารของระบบตั๋วร่วมให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมทราบเพื่อเป็นมาตรฐานกลางเดียวกันแล้ว หากจะทำระบบจัดเก็บรายได้ใดต่อไป ให้ทำเป็นมาตรฐานเดียวกันเพื่อเป็นระบบตั๋วร่วมโดยอัตโนมัติ เช่น รถโดยสารประจำทาง หากต้องการทำ E-Ticket ก็จะใช้ตั๋วแมงมุมเช่นกัน




เครื่องอ่านบัตรเดิมที่เห็นตามสถานีรถไฟฟ้า ต้องเปลี่ยนใหม่ไหม


เครื่องอ่านบัตรไม่จำเป็นต้องเปลี่ยน เพียงแต่ใส่อุปกรณ์(SAM)เพิ่ม คล้ายกับการใส่ SIM Card แล้วทำการอัปเกรดซอฟต์แวร์ได้เลย จากนั้นก็เป็นขั้นตอนการทดสอบและเชื่อมต่อระบบ


เติมเงินยังไง

ตามสถานีรถไฟฟ้า และตามร้านสะดวกซื้อที่รองรับระบบ


ค่าบริการต่างๆ จะถูกลงไหม

มีแนวโน้มที่ราคาค่าสินค้าและบริการจะลดลงอย่างแน่นอน เช่น การลดค่าแรกเข้า โปรโมชั่นเติมเงิน ฯลฯ เพราะผู้ประกอบการสามารถลดต้นทุน ลดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการในการจัดเก็บรายได้ เช่น ไม่ต้องจ้างคนขายตั๋ว คนแลกเหรียญ และไม่ต้องออกบัตรใหม่




บัตร Easy Pass และ M-pass ยังใช้ได้อยู่ไหม

บัตร Easy Pass ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย และ M-Pass ของกรมทางหลวง ยังคงใช้งานได้ตามปกติในช่องทางพิเศษของทั้ง 2 หน่วยงาน ส่วนบัตรแมงมุมจะใช้ได้ในช่องทางเก็บเงินปกติที่ต้องติดตั้งเครื่องอ่านบัตรแมงมุมเพิ่ม


บัตรเติมเงิน Smart Purse ,Rabbit Card ,MRT ยังมีอยู่ไหม

ยังคงมีอยู่ได้ ขึ้นอยู่กับผู้ให้บริการ เช่น หน้าตาบัตรภายนอกยังเหมือนเดิม แต่อาจจะเปลี่ยนรูปแบบการจัดการภายใน ต้องปรับไปเป็นมาตรฐานกลาง สามารถใช้ร่วมกับเจ้าอื่นๆได้ด้วย แต่ต้องมีการเจรจาเงื่อนไขกัน เช่น ในรูปแบบการพัฒนาแบรนด์ร่วม(Co-Brand)




รองรับ Mobile Payment ไหม

รองรับ เพราะเครื่องอ่านระบบตั๋วร่วม รองรับเทคโนโลยี Near field communication (NFC)




รองรับ วีซ่า(PayWave) หรือมาสเตอร์(PayPass) ไหม

รองรับ เพราะเครื่องอ่านระบบตั๋วร่วม รองรับเทคโนโลยี EMV Chip Payments (Europay, MasterCard and Visa) ด้วย




เครดิตภาพ : it24hrs


ใครดูแลการจัดเก็บรายได้กลางทั้งหมด (Central Clearing House)


อยู่ระหว่างเสนอ คณะรัฐมนตรี จัดตั้ง "บริษัท" ในรูปแบบรัฐร่วมลงทุนกับเอกชน(PPP) ทำหน้าที่บริหารจัดการและบำรุงรักษาทั้งระบบ


เจ้าของธุรกิจรายย่อย สามารถนำระบบนี้มาใช้ด้วยได้ไหม

ในอนาคตสามารถนำไปใช้ได้ อยู่ในส่วน Non-Transit ซึ่งจะมีสเปคเครื่องอ่านให้แบบเดียวกัน ราคาตั้งแต่ 7,000 บาท ไปจนถึงหลาย 10,000 บาท




เติมเงินอย่างเดียว หรือมีวงเงินให้ใช้ก่อนจ่ายทีหลัง

เติมเงินอย่างเดียว ยกเว้นธนาคารจะนำ Chip แมงมุม ไปใส่ในบัตรตนเองแบบ 2 In 1




สถานีเชื่อมต่อ อย่าง BTSหมอชิต - MRTจตุจักร ต้องเสียค่าแรกเข้าไหม

เนื่องจากเมื่อเปลี่ยนเป็นระบบตั๋วร่วม จึงคาดว่าควรจะมี"ค่าโดยสารร่วม"ด้วย แต่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา เป็นไปได้ทั้งการใช้บริการครั้งที่2 อาจไม่คิดราคา หรืออาจจะลดราคา


สรุปถึงมือประชาชนเริ่มใช้จริงๆเมื่อไร

ช่วงปลายปี 2559 นี้ ^^ 


ชมคลิปสัมภาษณ์สดในรายการ I like IT ออกกาศทาง FM100 และ Facebook Live เมื่อวันที่ 14พ.ค.59 เวลา 21:00น.




by DJ อภิสุข เวทยวิศิษฏ์


สามารถติดตามความข่าวสารและความเคลื่อนไหวของสถานีวิทยุ จส.100 ได้ทาง


    


สามารถดาวน์โหลด JS100 Application ได้ทั้งระบบ IOS และ Andriod ฟรี!!


 


 

X