!-- AdAsia Headcode -->

รณรงค์ห้ามเดินบนบันไดเลื่อน หากรีบเชิญใช้บันไดปกติ

07 กันยายน 2558, 14:24น.


เป็นข้อถกเถียงกันมานาน ว่าแท้จริงแล้วเราควรปฏิบัติ หรือไม่ปฏิบัติตัวอย่างไรขณะอยู่บนบันไดเลื่อน บางคนบอก"ยืนชิดขวา-เดินชิดซ้าย" ส่วนอีกคนบอก"ยืนชิดซ้าย-เดินชิดขวา" อ้างนานาประเทศที่เคยไปมา(หรือฟังปากต่อปาก)ว่าที่นั่นทำโง้นที่นี่ทำงี้ ทั้งที่จริงแต่ละประเทศแม้ไม่ได้ถึงขั้นออกกฏหมาย แต่ประชากรต่างก็มีจิตสำนึกหรือวิธีรณรงค์ที่แตกต่างกันออกไป

ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 ก.ย. มีผู้ใช้ทวิตเตอร์ @TonsTweeting โพสต์ภาพรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT ติดป้ายรณรงค์"กรุณางดเดินบนบันไดเลื่อน" ทำให้ประเด็นนี้ถูกหยิบยกมาถกเถียงกันอีกครั้งบนโลกโซเชี่ยล



จส.100 สอบถามนายชัชพร ตรีวิมล ผู้อำนวยการฝ่ายความปลอดภัยและคุณภาพ รฟม. เปิดเผยว่า ตั้งแต่รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT เริ่มให้บริการตั้งแต่ปี2547 มีการประชาสัมพันธ์ผ่านเสียงตามสายภายในสถานีอยู่เป็นประจำว่าให้ผู้โดยสาร"ยืนจับราวบันไดเลื่อน" แต่ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา พบว่าผู้โดยสารมีพฤติกรรมการเดินบนบันไดเลื่อนมากขึ้น ส่งผลให้มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุบนบันไดเลื่อนสูงขึ้นตาม จึงกำหนดแผนประชาสัมพันธ์ติดป้าย"กรุณายืนจับราวบันไดเลื่อน"ตั้งแต่ต้นปี2558 แต่ยังไม่เห็นผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม ยังคงมีอุบัติเหตุบนบันไดเลื่อนเกิดขึ้นเฉลี่ยปีละ 50 ครั้ง



ต่อมาจึงเพิ่มการติดสติ๊กเกอร์บริเวณบันไดเลื่อนเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา นำร่องก่อน 8 สถานี โดยติดไปแล้วที่สถานีพระราม9 สุขุมวิท และสีลม ส่วนอีก 5 สถานี อยู่ระหว่างดำเนินการ ได้แก่ สถานีหัวลำโพง ศูนย์วัฒนะธรรม ลาดพร้าว จตุจักร และพหลโยธิน โดย รฟม. มองว่าการเดินหรือวิ่งบนบันไดเลื่อนเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเกิดอุบัติเหตุทั้งกับตนเองและผู้อื่น และหากผู้โดยสารเร่งรีบสามารถเดินบนบันไดปกติได้โดยไม่กระทบสิทธิ์ผู้อื่น ทั้งนี้บันไดเลื่อนของ รฟม. มีความเร็ว 0.70 เมตร/วินาที เป็นมาตรฐานของระบบสถานีขนส่งมวลชนที่ต้องการระบายผู้โดยสาร ซึ่งจะเร็วกว่าความเร็วของบันไดเลื่อนตามห้างสรรพสินค้า



หากมองในมุมของบริษัทผู้ผลิตหรือผู้ให้บริการบันเลื่อน ในข้อแนะนำ(Instruction) จะระบุไว้ชัดเจนว่า "ให้ผู้ใช้บันไดเลื่อนยืนจับราวบันได และงดเดินหรือวิ่งบนบันไดเลื่อน" บางบริษัทระบุถึงขั้นว่า"ให้ยืนตรงกลางบันไดเลื่อน" เพราะจะทำให้บันไดเลื่อนไม่รับน้ำหนักเอียงไปด้านใดด้านหนึ่งมากจนเกินไป ซึ่งจะส่งผลด้านการสึกหรอในระยะยาว อีกทั้งหากมีการวิ่งทำให้เกิดแรงกระเทือน อาจทำให้บันไดเลื่อนต้องหยุดทำงานฉุกเฉินได้



สำหรับในต่างประเทศ "ญี่ปุ่น"เป็นประเทศหนึ่งที่ถูกอ้างถึงบ่อยที่สุด แม้ในอดีตจะมีข้อถกเถียงกันอยู่บ่อยครั้งเรื่องการยืนชิดฝั่งหนึ่งและเว้นที่ให้คนเดินอีกฝั่งหนึ่งตามแต่ป้ายจะบอก เพราะแต่ละเมืองไม่เหมือนกัน โตเกียวชิดซ้าย โอซาก้าชิดขวา แต่ปัจจุบันที่ญี่ปุ่นเองก็ปรับเปลี่ยนการรณรงค์ให้"ยืนจับราวบันไดเลื่อนและไม่เดินหรือวิ่ง"แล้วเช่นกันตั้งแต่ปี2547 โดยให้เหตุผลด้านการกระทบสิทธิ์ความปลอดภัยของผู้อื่น ซึ่งผู้ที่รีบสามารถใช้บันไดปกติแทนได้ ขณะที่ประเทศอื่นเช่น ฮ่องกง รณรงค์ให้ยืนจับราวบันไดมานานแล้วเช่นกัน ส่วนอังกฤษจะมีป้ายบอกชัดเจนว่าให้ยืนนิ่ง หรือให้ยืนชิดขวาเดินชิดซ้าย



ดังนั้นแม้ว่าการรณรงค์ให้"ยืนจับราวบันไดเลื่อน"ดูเหมือนจะเป็นธรรมกับทุกคนมากที่สุด แต่ไม่ได้แปลว่าเหมาะสมกับทุกพื้นที่เสมอไป เมื่อเป็นคนละพื้นที่ย่อมไม่สามารถเหมือนกันได้ทั้งหมด อาจมีปัจจัยอื่นเป็นเหตุเป็นผลสนับสนุนให้ปฏิบัติอย่างอื่น เช่น ข้อจำกัดของขนาดพื้นที่ ความรวดเร็วในการระบายผู้โดยสาร และจำนวนบันไดปกติที่รองรับในแต่ละสถานี ฯลฯ อย่างกรณีรถไฟฟ้า BTS ที่มีการรณรงค์ให้"ยืนชิดขวา-เดินชิดซ้าย" 



หันกลับมาที่ตัวเรา แล้วต่อไปนี้ควรทำอย่างไร? คำตอบนี้แท้ที่จริงง่ายมากครับ "เริ่มที่ตัวคุณ" การจะให้ผู้อื่นมาคิดเหมือนกันกับเราทุกเรื่องคงเป็นไปไม่ได้ อยู่ในสถานที่ไหนก็เคารพกฎกติกาของสถานที่นั้น หากคุณยืนบนบันไดเลื่อน แล้วมีคนรีบเดินมาต่อหลังคุณเพื่อจะแซง ถ้าไม่ลำบากจนเกินไปก็หลีกทางให้เขาเถอะครับ ไปขวางทางก็คงไม่มีประโยชน์อะไร(เขาคงจะรีบจริงๆถึงขั้นคอขาดบาดตายก็เป็นได้) ส่วนในมุมกลับกันหากเป็นตัวคุณที่รีบมากๆ(จนรอบันไดเลื่อนที่มีความเร็วกว่าปกติไม่ได้) ก็ขอให้คุณใช้บันไดธรรมดาดีกว่าครับ ไม่เป็นการไปรบกวนสิทธิ์ของผู้อื่นด้วย แต่คราวหลังแนะนำว่าคุณออกจากบ้านเร็วขึ้นหน่อยดีกว่าครับจะได้ไม่ต้องรีบร้อนจนเกินไป เพื่อความปลอดภัยของตัวคุณเองครับ



by DJ อภิสุข เวทยวิศิษฏ์
X