จากเหตุการณ์แผ่นดินไหว เมื่อช่วงเช้าวันพฤหัสบดีที่ 21 พฤศจิกายน 2562 โดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศลาว ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของบ้านน้ำช้าง ต.ขุนน่าน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน โดยพื้นที่บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมไปถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑล สามารถรับรู้แรงสั่นสะเทือนจากเหตุแผ่นดินไหวดังกล่าวได้ นั้น
.jpg)
การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ขอเรียนให้ทราบว่า ประเทศไทยมีข้อกําหนดให้สิ่งปลูกสร้างต้องออกแบบให้มีความสามารถรับแรงสั่นสะเทือนจากเหตุแผ่นดินไหว โดยระดับความรุนแรงจากเหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นกับสิ่งปลูกสร้างจะขึ้นอยู่กับตําแหน่งที่เกิดแผ่นดินไหว ลักษณะชั้นดิน และรูปแบบของสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลนั้น มีพื้นที่ตั้งอยู่บนชั้นดินอ่อน ความหนาประมาณ 14-16 เมตร และมีตำแหน่งที่ตั้งอยู่ห่างจากรอยเลื่อนที่มีพลัง (Active Faults) ที่ใกล้ที่สุด ได้แก่ รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์และรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ จ.กาญจนบุรี ประมาณ 200 กิโลเมตร ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของผู้โดยสารรถไฟฟ้าของ รฟม. โครงสร้างรถไฟฟ้าทั้งในส่วนเหนือพื้นดินและในส่วนใต้ดิน จึงได้ออกแบบให้รองรับแรงจากแผ่นดินไหวตามมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง เช่น AASHTO : American Association of State Highway and Transportation Officials มาตรฐานของกรมโยธาธิการและผังเมือง (มยผ.) เป็นต้น
.jpg)
ทั้งนี้ การออกแบบเพื่อรองรับแรงแผ่นดินไหวในโครงการรถไฟฟ้าของ รฟม. ได้ใช้แรงในการออกแบบรับแผ่นดินไหวที่มีค่าเท่ากับร้อยละ 6 - 15 ของน้ำหนักโครงสร้าง ซึ่งแรงดังกล่าวจะกระทําในแนวราบต่อโครงสร้าง และจะขึ้นอยู่กับรูปแบบของโครงสร้างด้วย หากเป็นโครงสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินจะได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวน้อยกว่าโครงสร้างรถไฟฟ้ายกระดับที่อยู่เหนือพื้นดิน เนื่องจากเมื่อเกิดแผ่นดินไหวการสั่นสะเทือนของดินและสิ่งปลูกสร้างจะเกิดในลักษณะเดียวกันหรือทิศทางเดียวกันพร้อมๆ กัน ซึ่งจะไม่ทําให้สิ่งปลูกสร้างใต้ดินได้รับความเสียหาย ส่วนงานโครงสร้างเหนือพื้นดินนั้น รฟม. ได้ออกแบบความแข็งแรงของโครงสร้างให้สามารถรับแรงจากแผ่นดินไหวได้อย่างปลอดภัยด้วยมาตรฐานการออกแบบที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายและมาตรฐานสากล ซึ่งหากเกิดแผ่นดินไหวที่มีจุดศูนย์กลางในบริเวณรอยเลื่อนที่ใกล้ที่สุดที่อาจเกิดขึ้นได้ ก็ยังจะไม่มีผลต่อโครงสร้างรถไฟฟ้าของ รฟม. แต่อย่างใด ถึงแม้ว่าอาจจะสามารถรับรู้แรงสั่นไหวได้ในสถานีรถไฟฟ้า แต่ไม่มีผลกระทบด้านความปลอดภัยใดๆ ต่อการให้บริการเดินรถ ทั้งนี้เมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหวจะมีการติดตามข่าวจากศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติและมีขั้นตอนในการดูแลผู้โดยสารให้เกิดความปลอดภัยเป็นอันดับแรก ดังนั้น รฟม. ขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าการออกแบบโครงสร้างรถไฟฟ้าของ รฟม. ทุกโครงการ มีความปลอดภัยและเป็นไปตามมาตรฐานสากล
.jpg)