ผู้เสียหายจากการแฮกเฟสบุ๊กและไลน์เข้าแจ้งความที่ ปอท.มูลค่าความเสียหายมากกว่า 1 แสนบาท

15 ตุลาคม 2562, 13:21น.


          การก่ออาชญากรรมแฮกเฟสบุ๊กและไลน์เพื่อหลอกโอนเงินยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง สร้างความเสียหายให้กับประชาชนเป็นจำนวนมาก อย่างกรณีในวันนี้ น.ส.ปรียาภรณ์ สมสร้อย อายุ 42 ปี นำหลักฐานข้อความการแชทไลน์โอนเงินโทรศัพท์มือถือ พร้อมหลักฐานใบแจ้งความที่สน.ลุมพินีเข้าแจ้งความกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับเทคโนโลยี (ปอท.) หลังถูกคนร้ายแฮกไลน์ของเพื่อนที่อยู่จังหวัดสระแก้วหลอกให้โอนเงิน 2 ครั้งรวมเป็นเงิน 26,000 บาท โดยอ้างว่าแอปพลิเคชั่นโอนเงินเสีย ขอให้โอนเงินไปให้บัญชีชื่อบัญชี ศิริณณา โชติ ซึ่งหลังจากโอนเงินผ่านไปเพียง 5 นาที ก็เปิดเฟสบุ๊กพบว่าเพื่อนที่ส่งข้อความมาให้โอนเงินถูกแฮกไลน์ นอกจากนี้ ยังพบว่าบัญชีที่คนร้ายหลอกให้โอนเงิน ยังเป็นบัญชีเดียวกันและชื่อตรงกันกับแฮกเกอร์รายเดียวกันกับที่เคยหลอกภรรยาสารวัตรแรมโบ้ หรือพ.ต.อ.สุรโชค เจษฎาเดช อดีตผู้กำกับการสืบสวนตำรวจภูธรจังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งเคยแจ้งความไว้ที่ สน.บางชัน แล้วเมื่อเดือนสิงหาคม ในกรณีนี้หลังจากที่ภรรยาสารวัตรแรมโบ้ แจ้งความดำเนินคดี คนร้ายได้ส่งข้อความมาขอโทษและสัญญาว่าจะไม่ทำอีก แต่พบว่าจนถึงปัจจุบันคนร้ายยังคงก่อเหตุอย่างต่อเนื่อง



          อีกคดีหนึ่ง น.ส.สร้อยฟ้า โอสุคนธ์ทิพย์ พิธีกรรายการสมาร์ทเอนเนอร์จี ทางไทยรัฐทีวี นำหลักฐานเข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวนปอท.ว่าถูกแฮกเฟสบุ๊กโดยคนร้ายส่งข้อความไปถึงเพื่อนและคนรู้จักในเฟสบุ๊ก เพื่อหลอกให้โอนเงินเข้าบัญชี น.ส.เพ็ญศรี คะเรรัมย์ จากการตรวจสอบพบมีผู้เสียหายโอนเงินแล้วประมาณ 120,000 บาท น.ส.สร้อยฟ้า กล่าวว่า ในช่วงเช้าวันนี้มีคนรู้จักได้โทรศัพท์มา 15-20 สายสอบถามว่าต้องการให้โอนเงินจริงหรือ จึงรู้ตัวว่าถูกแฮกเฟสบุ๊ก จึงขอฝากว่าตนเองไม่เคยมีพฤติกรรมขอยืมเงินกับเพื่อน และหากได้รับข้อความบอกให้โอนเงินก็ขอโทรสอบถามกับบุคคลที่ถูกกล่าวอ้างก่อน ทั้งสองกรณีเจ้าหน้าที่ได้รับเรื่องดำเนินการตรวจสอบและส่งข้อมูลให้กับสน.ท้องที่ดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายต่อไป



         



          ด้าน พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองผู้บังคับการปอท. กล่าวว่า สำหรับคดีการปลอมหรือแฮกเฟซบุ๊กและแอปพลิเคชั่นไลน์ แล้วนำไปหลอกบุคคลใกล้ชิดของผู้เสียหายยังคงเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อย  บก.ปอท. จึงขอย้ำเตือนให้ประชาชนระมัดระวัง โดยเฉพาะการใช้สื่อสังคมออนไลน์ ควรตั้งรหัสซึ่งเป็นระบบป้องกันที่คาดเดายาก อย่าใช้หมายเลขโทรศัพท์ หรือวัน เดือน ปีเกิด และควรตั้งรหัสป้องกันถึง 2 ชั้น หรือที่เรียกว่า ทูแฟกเตอร์ ออทิเนชั่น ส่วนผู้ที่ได้รับข้อความขอยืมเงิน หรือให้โอนเงินควรมองในแง่ลบไว้ก่อนว่าเป็นมิจฉาชีพ อย่ารีบโอนเงิน ควรตรวจสอบให้แน่ชัดว่าเป็นบุคคลใกล้ชิดจริงๆ จะปลอดภัยจากแก๊งมิจฉาชีพต่างๆ



...
ข่าวทั้งหมด

X