นายกแพทยสมาคมฯชี้สั่งปิดรร.แก้ปัญหาปลายเหตุ แนะเร่งหาต้นตอฝุ่นจิ๋ว-เข้มงวดใช้กม.

30 มกราคม 2562, 17:08น.


ในการแถลงข่าว “ถอด N95 ร่วมแก้ปัญหาฝุ่นจิ๋ว”  ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวถึงการสั่งปิดโรงเรียน จากปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ว่าในฐานะแพทย์ยอมรับว่าฝุ่นละอองขนาดเล็กก่อให้เกิดปัญหาเรื่องสุขภาพแต่ จากมาตรการที่ปรากฏออกมา นั้นการสั่งปิดโรงเรียนเสมือนกับเป็นการแก้ปัญหา ซึ่งจริงๆ เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นตอ เป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกต้องอย่างแน่นอนและยังก่อให้เกิดการตื่นตระหนกของประชาชนมากยิ่งขึ้นโดยที่ประชาชนไม่ทราบว่าจะต้องใช้ชีวิตในกรุงเทพมหานครอย่างไรจึงเป็นที่มาของการจัดงานแถลงข่าววันนี้ขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลที่ถูกต้องจากนักวิชาการ



โดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ซึ่งเป็นกระทรวงหลักในการดูแลด้านสุขภาพก็เริ่มมีการออกมาให้ข้อเท็จจริง แนวทางที่ถูกต้องแก่ประชาชน ซึ่งสิ่งสำคัญต้องมีแนวทาง 4 ประเด็น คือ  รัฐบาลในฐานะที่ดูแลประชาชนทั้งระบบ จะต้องมีการประชุมหารือที่เร่งด่วนเพราะเรื่องนี้เป็นวาระเร่งด่วน เพื่อกำหนดแนวทาง คำแนะนำ ที่ไปในทิศทางเดียวกัน  เพื่อไม่ให้ประชาชนเกิดความตระหนก และสับสนในสังคม , สธ.ในฐานะกระทรวงที่ดูแลสุขภาพประชาชน อยากจะให้ออกมาให้คำแนะนำแนวทางที่เหมาะสมในการดูแลรักษาตัวเอง,ประชนชนต้องตระหนักรู้ปัญหานี้จริงๆ ต้องมีการติดตามสถานการณ์ ซึ่งแต่ละคนต้องมีวิธีในการดูแลตนเอง และสังคมต้องมาตระหนักแล้วว่าเราต้องมาร่วมช่วยกันที่จะลดมลภาวะที่เป็นปัญหาในขณะนี้  เพราะหากไม่ร่วมกันแก้ไขปัญหา ประเทศไทยก็จะยังสอบตกต่อปัญหามลภาวะนี้ และก่อให้เกิดความเจ็บป่วยมากขึ้นทุกวัน



ศ.นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และกรรมการที่ปรึกษาชมรมลมวิเศษ  กล่าวว่า ปัญหาฝุ่นจิ๋วที่กำลังคุกคามสุขภาพของคนกรุงเทพฯ โดยผลกระทบที่รุนแรงในระยะสั้นคือเพิ่มอัตราการเสียชีวิตและการเจ็บป่วยรายวันจากโรคระบบการหายใจ หัวใจ และหลอดเลือดสมองให้สูงขึ้น เช่น โรคปอดอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และโรคหลอดเลือดสมอง ส่วนผลกระทบในระยะยาวที่ร้ายแรงคือ อายุขัยเฉลี่ยสั้นลงตามระดับความเข้มข้นค่าเฉลี่ยรายปีของ PM2.5 ในพื้นที่บ้านเกิด โดยพบว่าทุกๆ 10 มคก./ลบ.ม ของ PM2.5 ที่เพิ่มขึ้นทำให้ผู้ที่เกิดและอยู่อาศัยในพื้นที่นั้นอายุขัยสั้นลง 0.98 ปี  ส่วนผลกระทบในระยะยาวยังไม่มีการศึกษาในประเทศไทย แต่มีการศึกษาทั่วโลก ของ WHO ว่าทุกๆ 10 ไมโครกรัมของ PM 2.5 ที่เพิ่มขึ้น จะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตจากมะเร็งปอดเพิ่มขึ้น ร้อยละ 8-14  โดยพบว่ามีความสัมพันธ์กันจากการศึกษาในระยะ 3 -20 ปีในระยะยาว ซึ่งจากข้อมูลทางอ้อมในประเทศไทยที่มีความสัมพันธ์กันเราพบว่าสถิติเป็นมะเร็งสูงสุดในภาคเหนือตอนบน ซึ่งไปสอดคล้องพื้นที่ที่มีค่าเฉลี่ยของPM 2.5 สูงกว่าพื้นที่อื่นๆของประเทศ  ซึ่งหากมีการศึกษาคงต้องมีการศึกษาขึ้นไปอีกในระยะยาว 4-5 ปีขึ้นไป หรือ ต้องมีการศึกษาย้อนหลัง



ส่วน รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรรมการที่ปรึกษาชมรมลมวิเศษ กล่าวว่า ล่าสุดมีข่าวดีว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) จะเชิญคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมเข้าหารือในวันที่ 4 กุมภาพันธ์นี้  ก็ต้องรอดูว่าจะมีผลอย่างไรออกมา อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญอยากให้ชัดก่อน ว่า สาเหตุฝุ่นจิ๋วมาจากอะไรกันแน่ และควรมีแหล่งข้อมูลหลักจากแหล่งเดียว ออกมาให้ชัดว่า อะไรเป็นสาเหตุจริงๆ และจะแก้ไขอย่างไร โดยต้องดูว่าผลกระทบต้องชัด เช่น ผลกระทบเฉียบพลัน หากฝุ่นสูงมากๆ จะเฉียบพลัน เช่น แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก แต่ผลจากระยะยาว จะส่งผลระยะยาว เช่น มะเร็ง สมองเสื่อม พัฒนาการเด็ก โดยไทยกำหนดไว้ที่ปี 2553 กำหนดตั้งแต่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมสมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี  แต่ทุกปีกลับไม่มีการปรับปรุง มีแต่การตื่นเต้นเป็นครั้งคราว ทุกวันนี้เราก็ยังใช้ค่ามาตรฐานเดิมคือ รายวัน 50 รายปี 25 ดังนั้น เราต้องมีข้อมูลวิชาการว่า ค่ารายวันรายปี จะทำอย่างไรให้อยู่ในค่ามาตรฐาน และต้องมีการปรับปรุงทุกปี



ดังนั้น การดูแลผลกระทบจากฝุ่นจิ๋ว ควรต้องดูแลระยะสั้น และระยะยาวด้วย อย่างคนไข้หลายคนเป็นมะเร็งปอด โดยไม่ได้สูบบุหรี่ ตนมีความเชื่อส่วนตัวว่าสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมแน่ๆ ตรงนี้ก็ต้องมีการติดตามเพื่อให้ได้ผลระยะยาวด้วย ดังนั้น รัฐต้องมีเป้าให้ชัด วัดให้ได้ และไปให้ถึง อย่างคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง หลายคนก็มีเป้าหมายที่อาจไม่ตรงกับสุขภาพ ซึ่งตอนนี้ ก็ไม่แน่ใจว่ามีพรรคการเมืองไหนเอาเรื่องนี้ขึ้นเป็นนโยบายว่า พีเอ็ม 2.5 ในกี่ปีจะเหลือเท่าไหร่ แต่ที่แน่ๆ ทางการแพทย์ เป้าสำคัญคือ สุขภาพของประชาชน นั่นคือผลระยะยาว แต่หากใครจะเอาผลทางธุรกิจ มันคือระยะสั้น ระยะยาวเจ๊งแน่นอน



รศ.นพ.ฉันชาย กล่าวว่า ไทยมีกฎหมายสิ่งแวดล้อมเกิน 70ฉบับ เรามีความสามารถในการออกกฎหมาย แต่มีปัญหาเรื่องการบังคับใช้ เราจะต้องทำอย่างไร ลดการใช้เชื้อเพลิง เราจะทำอย่างไรอย่างโรงเรียนหนึ่ง เด็กๆจะใส่หน้ากากหมด แต่พ่อแม่ยังขับรถไปส่งหน้าโรงเรียน เราต้องกล้าปิดโรงเรียน เราต้องกล้าบังคับใช้เรื่องควบคุมต่างๆด้วย และในเรื่องการจัดการเรื่องงบประมาณ จริงๆ เรามีพ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมตั้งแต่ปี 2535 มีการเก็บภาษีน้ำเสียจากโรงงาน เราน่าจะเอาตรงนี้มาทำในเรื่องฝุ่นได้ด้วย อย่างเรื่องภาษีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ก็เพื่อให้ผู้ประกอบการลดปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยจูงใจเรื่องมาตรการภาษี และก็เอาตรงนี้มาชดเชยผู้รับผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อม สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องดี และควรทำ แต่ก็ต้องมาดูว่าจะดำเนินการอย่างไรให้เหมาะสมด้วย



 

ข่าวทั้งหมด

X