ผลโพลล์ พบคนส่วนใหญ่ ตั้งใจไปเลือกตั้ง ตามข่าวสารจากสื่อออนไลน์

17 พฤศจิกายน 2561, 12:19น.



กรุงเทพโพลล์ โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง "วัยใสจะไปเลือกตั้ง" โดยเก็บข้อมูลกับกลุ่มตัวอย่างประชาชนที่มีสิทธิ์เลือกตั้งในครั้งแรก จำนวน 1,202 คน พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 85.8 จะใช้ช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ เช่น facebook , youtube ติดตามข่าวสารการเลือกตั้งและข่าวเกี่ยวกับพรรคการเมือง รองลงมาร้อยละ 36.5 จะติดตามผ่านช่องทางทีวี และร้อยละ 20.8 จะติดตามผ่านเว็บไซต์



เมื่อถามถึงมุมมองของคนรุ่นใหม่ อยากเห็นอะไรจากการเลือกตั้งในครั้งนี้พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 57.9 อยากให้มีการลงคะแนนเลือกตั้งผ่านแอพพลิเคชัน รองลงมา ร้อยละ 39.6 อยากให้มีแอปพลิเคชัน แสดงข้อมูลผู้สมัคร ส.ส.ในพื้นที่เขตต่างๆ และร้อยละ 33.0 อยากให้มีแอปพลิเคชัน แจ้งเตือน วันเวลา สถานที่เลือกตั้ง



สำหรับความคิดเห็นต่อบรรยากาศการเลือกตั้ง คาดว่า จะจัดขึ้นในวันที่ 24 ก.พ.2562 พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 66.6 คิดว่าจะมีความคึกคักมากเพราะห่างหายการเลือกตั้งมานาน ส่วนร้อยละ 19.0 คิดว่า อาจจะมีการสร้างเหตุความไม่สงบ ก่อความวุ่นวายขึ้น ขณะที่ ร้อยละ 14.4 คิดว่าจะเงียบเหงา ไม่คึกคักเท่าที่ควร



เมื่อถามว่าใช้เกณฑ์ใดเป็นหลักในการเลือกตั้ง ส.ส. ในครั้งนี้พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 91.8 จะตัดสินใจเลือกด้วยตนเอง โดยในจำนวนนี้จะเลือกผู้ที่มีความสามารถ มีวิสัยทัศน์กว้างไกลมากที่สุด ร้อยละ 60.9 รองลงมาคือ จะเลือกผู้ที่มีผลงานแก้ปัญหาของชุมชน ร้อยละ 46.1 และ จะเลือกผู้ที่ไม่มีประวัติด่างพร้อยเรื่องทุจริต ร้อยละ43.5 ส่วนร้อยละ 7.0 จะเลือกตามญาติพี่น้อง คนในครอบครัว และมีร้อยละ 0.4 เท่ากัน ที่เลือกตามเพื่อนและเลือกตามกระแสโซเชียล



สุดท้ายเมื่อถามว่าจะไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ส.ส.ที่คาดว่าจะจัดขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ที่จะถึงนี้หรือไม่ ส่วนใหญ่ร้อยละ 78.6 ตั้งใจว่าจะไป ขณะที่ ร้อยละ 15.1 ตั้งใจว่าจะไม่ไป โดยในจำนวนนี้ให้เหตุผลว่า ต้องเรียน ทำงาน ติดธุระ ร้อยละ 8.7 รองลงมาคือ ไม่เคยไปเลือกอยู่แล้ว ร้อยละ 2.2 และเบื่อหน่ายการเมือง ร้อยละ 1.4 ส่วนร้อยละ 6.2 ยังไม่แน่ใจ





 



CR:กรุงเทพโพลล์



 




 

ข่าวทั้งหมด

X