ตะลุยเที่ยว ‘ชุมชุนกุฎีจีน’ กรุงเทพฯ ในมุมที่ไม่คุ้นเคย

21 กันยายน 2561, 19:00น.

A PHP Error was encountered

Severity: Notice

Message: Undefined offset: 75

Filename: news/detail.php

Line Number: 400


        กรุงเทพฯ ไม่ได้มีแต่ตึกสูงระฟ้า และไม่ได้มีแต่ความเร่งรีบ หากมองเผิน ๆ กรุงเทพฯ มีแต่วันข้างหน้า ความเจริญที่แผ่ซ่านไปทั่วทุกแห่ง ทุกตรอกซอกซอย แทบไม่เหลือพื้นที่สีเขียว และที่ว่างสำหรับความทรงจำ แต่ใครรู้ว่าที่ใจกลางกรุงเทพฯ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงข้ามปากคลองตลาด ยังมีชุมชนอยู่ชุมชนหนึ่งที่พยายามทวนกระแสความเปลี่ยนแปลงของวันเวลา เป็นย่านที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม ซึ่งเป็นเอกลักษณ์การตั้งถิ่นฐานของผู้คนในอดีต สามารถสืบสาวย้อนเรื่องราวไปได้หลายร้อยปี กับที่นี่ ชุมชนกุฎีจีน แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี

        ที่ได้ชื่อว่า กุฎีจีน สันนิษฐานว่า อดีตที่นี่เคยมีชุมชนชาวจีนอาศัยอยู่หนาแน่น โดยคำว่า กุฎี น่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า กุฏิ ดังนั้น กุฎีจีน จึงแปลตรง ๆ ได้ว่า เป็นที่อาศัยของนักบวชชาวจีน ก่อนที่ชาวโปรตุเกสจะได้รับพระราชทานที่ดินเข้ามาอาศัยอยู่ละแวกนี้ในสมัยกรุงธนบุรี ที่นี่จึงมีผู้คนหลากเชื้อชาติ และมีศาสนสถานที่สำคัญหลายแห่ง เช่น โบสถ์ซางตาครู้ส ศาลเจ้าเกียนอันเกง มัสยิดบางหลวง และวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร ซึ่งเป็นจุดแรกที่ผมจะพาไปรู้จัก







        วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร พิกัด 13.739943, 100.491286 พี่ป๊อก ไพศาล อินจันทร์ ไกด์นำเที่ยวของเราในครั้งนี้ เล่าให้ฟังว่า วัดนี้สร้างขึ้นโดยเจ้าพระยานิกรบดินทร์ (เจ้าสัวโต แซ่อึ้ง) ชาวจีนฮกเกี้ยน ต้นตระกูลกัลยาณมิตร เพื่อถวายเป็นพระอารามหลวง ต่อมารัชกาลที่ 3 ได้ต่อเติม ทรงสร้างพระวิหารหลวงตรงกลาง ขนาบข้างด้วยวิหารเล็กและพระอุโบสถ ภายในมีพระประธาน เป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ปางมารวิชัย ชื่อ พระพุทธไตรรัตนนายก หรือที่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า ซำปอกง ด้วยมีพระประสงค์ให้มีพระโตอยู่นอกกำแพงเมืองแบบวัดพนัญเชิงที่กรุงเก่า

        และด้วยการที่วัดนี้เป็นวัดไทยที่อยู่ในชุมชนจีน จึงมีการผนวกความเชื่อแบบมหายานของจีนเข้ากับหินยานของไทย ดังเห็นว่าภายในวัดจะมีทั้งกลองและระฆัง ซึ่งตามธรรมเนียมจีนก่อนไหว้พระจะต้องตีกลองเพื่อปลุกเจ้าก่อน แต่คนไทยเราจะไหว้พระก่อนแล้วค่อยไปตีระฆังทีหลัง นอกจากนี้ที่วัดยังมีการจัดทำฮู้ หรือยันต์จีนรูปพระพุทธไตรรัตนนายกสำหรับเช่ากลับบ้าน อันเป็นการผสมผสานความเชื่อระหว่างไทย – จีน ที่เห็นได้เด่นชัดของคนในพื้นที่











        เดินเลียบแม่น้ำถัดมาอีกเล็กน้อย เราจะพบ ศาลเจ้าเกียนอันเกง พิกัด 13.740074, 100.492589 พี่ด้วง บุณยนิธย์ สิมะเสถียร สมาชิกของตระกูลเก่าแก่ในย่านนี้เล่าให้ฟังว่า ศาลเจ้าเกียนอันเกงถือเป็นศาลเจ้าที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในฝั่งธนบุรี สร้างขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกันกับวัดกัลยาณมิตรฯ เป็นสถาปัตยแบบจีนฮกเกี้ยน ภายในประดิษฐานพระโพธิสัตว์กวนอิม แกะจากไม้หอม ปิดทองคำเปลว ขนาดประมาณเท่าคนครึ่ง ด้านซ้ายมีเจ้าแม่ทับทิม หรือมาโจ้ว ส่วนด้านขวาเป็นที่ประทับของเจ้าพ่อกวนอู ขนาบข้างด้วย 18 อรหันต์ ซึ่งศิลปวัตถุที่เก่าแก่ และหาชมได้ยาก

        นอกจากนี้ที่ศาลเจ้ายังมีงานไม้แกะสลักที่ประณีตสมบูรณ์ และมีภาพจิตรกรรมฝาผนังบอกเล่าเรื่องราวในวรรณคดีสามก๊ก โดยเริ่มตั้งแต่ตอนแรก คือ คำสาบานในสวนท้อ และตอนโจโฉแตกทับเรือ ห้ามพลาดชมเด็ดขาด











        ถัดมาอีกร้อยเมตรจะเจอ โบสถ์ซางตาครู้ส พิกัด 13.739051, 100.493806 ศูนย์รวมความศรัทธาของชุมชนชาวโปรตุเกสที่อพยพจากกรุงศรีอุยธยามาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่กุฎีจีนเมื่อกว่า 249 ปี หรือตั้งแต่ พ.ศ.2312 โดยได้รับพระราชทานที่ดินจากพระเจ้ากรุงธนบุรี จำนวน 32 ไร่ เป็นที่อยู่อาศัย เพื่อตอบแทนความดีความชอบที่ได้ช่วยเหลืองานราชการสงคราม และการแปลสาร ปัจจุบันโบสถ์ที่เห็นอยู่เป็นโบสถ์หลังที่ 3 อายุ 102 ปี สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 โดย คุณพ่อกูเลียลโม กิ๊น ดา ครู้ส ออกแบบโดยสถาปนิกชาวอิตาลีนาม มาริโอ ตามานโญ ผู้ออกแบบพระที่นั่งอนันตสมาคม

        ภายในอาคารประดับตกแต่งด้วยรูปปูนปั้น และกระจกสีนำเข้าจากฝรั่งเศสบอกเล่าเรื่องราวในพระคัมภีร์ไบเบิล มีธรรมาสน์ไม้ยกพื้นสูงรูปทรงสวยงาม ด้านในสุดมีแท่นศักดิ์สิทธิ์ตั้งอยู่บนลาน เป็นเขตห้ามคนทั่วไปขึ้นไปเหยียบย่ำเพราะเป็นจุดที่มีการฝังศพพระสังฆราช และพระบาทหลวงชาวฝรั่งเศสที่เคยอาศัยอยู่ และเสียชีวิตลงในอดีต











        เดินชมโบสถ์เสร็จแล้ว เราไปชมวิถีชีวิตของชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกสในชุมชนกุฎีจีนกันต่อ ที่นี่เราจะได้สัมผัสวัฒนธรรมโปรตุเกสผ่านอาหาร ซึ่งเป็นขนมประจำถิ่นอย่าง ขนมฝรั่งกุฎีจีน ที่ทำสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยาโดยดัดแปลงจากตำรับของท้าวทองกีบม้าที่พวกเรารู้จักกันดี โดยที่ร้านขนมฝรั่งหลานแม่เป้า เราจะได้ชมขั้นตอนการทำขนมตั้งแต่การผสมแป้ง การเทใส่แม่พิมพ์ และการอบที่ยังคงเป็นวิธีการแบบดั้งเดิม คือ อบด้วยความร้อนจากถ่าน หากชิมแล้วติดใจก็สามารถซื้อติดมือกลับบ้านได้ ราคาถุงละ 35 บาท หรือ 3 ถุง ร้อยเดียว









        และเมื่อเดินเข้ามาในชุมชนอีกหน่อยก็จะพบกับ พิพิธภัณฑ์กุฎีจีน ที่นี่จะบอกเล่าเรื่องราวของชาวโปรตุเกสตั้งแต่สมัยที่เดินทางเข้ามาติดต่อกับสยามเมื่อ 500 ปีก่อน จนมีบทบาทด้านการทหาร การแพทย์ เป็นผู้ประดิษฐ์ขนมไทยที่มีส่วนผสมของไข่ไก่และน้ำตาล รวมถึงนำพืชพรรณบางอย่างเข้ามาในสยาม เช่น พริก มะละกอ สัปปะรด น้อยหน่า และจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ที่แสดงถึงความเป็นอยู่ของคนไทยเชื้อสายโปรตุเกสในชุมชนแห่งนี้













        นอกจากนั้นเรายังได้ไปเยี่ยมชมเรือนจันทนภาพ เรือนไทยไม้สักอายุ 100 ปี ของคุณป้าแดง จารุภา จันทนภาพ ฟังเรื่องเล่าของเรือนไม้ผ่านวันเวลา และประวัติศาสตร์ของชุมชน รับรองว่าหากคุณได้รู้จักที่นี่แบบลึกซึ้ง จะต้องหลงรักในรายละเอียด เหมือนได้เติมเต็มพื้นที่ว่างให้แก่ความทรงจำ ได้รู้ว่ากรุงเทพฯ นั้นยังมุมที่ไม่คุ้นเคยรอให้เข้าไปสัมผัสอีกมากมาย และหากคุณสนใจมาตะลุยเที่ยวแบบนี้ แต่มีคำถามเกี่ยวกับการเดินทาง ที่พัก ร้านอาหารขึ้นชื่อ หรือที่เที่ยวใกล้เคียงอื่น ๆ สามารถสอบถามได้ที่ ททท.สำนักงานกรุงเทพฯ โทร. 0 2276 2720-1 หรือทางเฟซบุ๊กเพจ TAT Bangkok



 

ข่าวทั้งหมด

X