ลงสำรวจถ.อโศกพบความปลอดภัยต่ำ ก่อนไทยเป็นเจ้าภาพประชุมความปลอดภัยระดับโลก 5-7พ.ย.นี้

20 กันยายน 2561, 16:09น.


การประชุมระดับโลกด้านการป้องกันการบาดเจ็บและการส่งเสริมความปลอดภัย ครั้งที่ 13 ว่าด้วยเรื่อง “ก้าวหน้าสู่โลกที่ปลอดภัย ห่างไกลการบาดเจ็บและความรุนแรงอย่างยั่งยืน”  หัวข้อด้านมาตรฐานความปลอดภัยทางถนน ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในหัวข้อสำคัญของการประชุมนี้ โดยประเทศไทย จะเป็นเจ้าภาพ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-7 พฤศจิกายน 2561 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุม BITEC บางนา



รองศาสตราจารย์ ดร.เกษม ชูจารุกุล รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า กรุงเทพมหานคร ได้รับเลือกจากมูลนิธิบลูมเบิร์ก เพื่อสาธารณประโยชน์ ซึ่งมีสำนักงานที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ให้เป็น 1ใน10เมืองเข้าร่วมโครงการความคิดริเริ่มเพื่อความปลอดภัยทางถนนทั่วโลก เป็นระยะเวลา 5ปี (พ.ศ.2558-2562) มุ่งหวังลดการเกิดอุบัติเหตุทางถนน และลดความสูญเสียบนถนนให้ได้มากที่สุด ทั้งการรณรงค์สร้างจิตสำนึก รวมถึงวางแผนออกแบบพัฒนาปรับปรุงถนนให้มีความปลอดภัยยิ่งขึ้น โดยได้รับคำแนะนำจากองค์การสหประชาชาติ และองค์การอนามัยโลกให้ใช้มาตรฐานการสร้างถนน การประเมินสภาพถนน ก่อนจะให้ดาว (Star Rating) ตามเกณฑ์ของ IRAP (International Road Assessment Programme) แต่ละประเทศที่นำไปใช้จะใช้ชื่อต่างกันไปตามแต่ละประเทศ





สำหรับไทยในอนาคตอันใกล้จะมี THAIRAPมีการประเมินผลในการใช้รถใช้ถนนของไทย เพื่อตรวจสอบถนนเส้นใดมีความปลอดภัยสูง-ต่ำ สำหรับผู้ใช้รถใช้ถนนแต่ละประเภท คือ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ คนเดินเท้า และรถจักรยาน โดยจัดลำดับเป็น  1 ดาวปลอดภัยต่ำสุด และ 5 ดาวมีความปลอดภัยสูงสุด ซึ่งทุกๆ 1 ดาวที่เพิ่มจะปลอดภัยขึ้นครึ่งหนึ่ง ข้อดีของมาตรฐานนี้ คือ สามารถเปรียบเทียบกับนานาชาติได้ ทุกประเทศต้องมีการประเมินผลดาว และเมื่อรู้แล้วว่าไม่ปลอดภัยจะแก้ไขอย่างไร iRAP จะให้คำแนะนำได้ นำไปสู่การเลือกมาตรการที่คุ้มค่าในเชิงเศรษฐศาสตร์ ให้สามารถลดผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตทางถนนให้ได้มากที่สุด





นอกจากนั้น องค์การสหประชาชาติ ได้ตั้งเป้าหมายในปี 2030 ให้ถนนที่มีการสร้างใหม่ทุกประเทศต้องอยู่ระดับ 3 ดาวเป็นอย่างน้อย รวมทั้ง 75% ของการเดินทางในประเทศต้องมีการเดินบนถนนที่มีความปลอดภัยตั้งแต่ 3 ดาวขึ้นไป จึงต้องมีแผน มีกลยุทธ์ที่ชัดเจน ซึ่งประเทศไทยอยู่ในระยะเริ่มแรก



ในการสำรวจถนนแต่ละเส้นนั้น จะมีทั้งใช้รถที่ติดตั้งระบบวัดผ่านเลเซอร์ โดยมีกล้องช่วยตรวจสอบ พร้อมระบุพิกัดจาก GPS ตามระยะทางที่กำหนดไว้ทั้งสองข้างทาง และใช้บุคคลสำรวจในบางจุด เพื่อดูจุดเสี่ยงแล้วประเมินความเสี่ยง ซึ่งมีมากกว่า 50 ปัจจัยที่ต้องนำมาวิเคราะห์ผ่านระบบ เช่น ปริมาณจราจร สัญญาณไฟ ปริมาณคนเดินเท้า ไฟส่องสว่าง ผิวถนน สิ่งกีดขวาง พฤติกรรมคน ฯลฯ หลังจากนั้นจะประมวลผลเพื่อให้ได้ค่า Star Rating ขึ้นมา ก่อนจะมาถึงมาตรการในการปรับปรุงแก้ไข





สำหรับในพื้นที่ กทม. มี 3เส้นทางนำร่องที่ได้สำรวจ และแก้ไขไปแล้วบางส่วน คือ ถ.อโศกมนตรี สีลม และเยาวราช ซึ่งที่ทีมข่าวสำรวจในวันนี้คือ ถ.อโศกมนตรี ที่มีสภาพการจราจรหนาแน่นตลอดทั้งวัน สองข้างทางประกอบด้วยสถานที่ทำงาน สถานศึกษา และตลาดนัด ทำให้มีคนใช้ทางเท้า-เดินข้ามถนนตลอดเวลา ได้มีการปรับปรุงทางม้าลายให้กว้างขึ้น จัดเป็นจุดชัดเจน จุดไหนที่ไม่ใช่ทางม้าลายจะนำราวเหล็กกั้นเอาไว้ โดยก่อนถึงทางม้าลายจะตีเส้นจราจรแบบซิกแซก เพื่อให้รถใช้ความเร็วลดลง พร้อมทั้งปิดจุดเลี้ยว จุดกลับรถบางจุด ลดการตัดกระแสรถทางตรง ไม่ให้การจราจรสะดุดและป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ ส่วนบนทางเท้าได้นำสิ่งกีดขวางป้องกันรถจักรยานยนต์ขึ้นมาขับขี่ โดยประชาชนทั่วไปและผู้ที่ใช้รถวีลแชร์ยังผ่านได้ แต่ในขณะเดียวกัน ถนนอโศกมนตรียังถูกประเมินว่ามีความปลอดภัยต่ำ



สำหรับผู้ที่ขี่รถจักรยาน ส่วนผู้ขับขี่รถยนต์ และรถจักรยานยนต์ ผ่านพื้นที่ชุมชนนั้นอาจต้องมีการจำกัดความเร็วที่เหมาะสม ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยมีการสำรวจถนนที่มีความเสี่ยงสูงในพื้นที่ของ กทม. และกรมทางหลวง คือ ลาดกระบัง บางขุนเทียน หนองจอก มีนบุรี ตลิ่งชัน ประเวศ ก่อนต่อยอดไปยังเส้นทางหลักระหว่างเมือง คือ พหลโยธิน เพชรเกษม สุขุมวิท และมิตรภาพ



วริศรา ชาญบัณฑิตนันท์ ผู้สื่อข่าว 

ข่าวทั้งหมด

X