จนท.ขนส่งลงพื้นที่BTSหมอชิต ยังพบแท็กซี่หมดอายุ-จยย.ส่วนบุคคลวิ่งรับผู้โดยสาร

16 พฤษภาคม 2561, 19:58น.


การลงพื้นที่ตรวจรถโดยสารสาธารณะบริเวณบีทีเอส หมอชิต ฝั่งขาเข้า นาย สุรพล โล่ห์สีทอง เจ้าพนักงานขนส่งชำนาญงาน กรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า จะตรวจรถโดยสารสาธารณะทุกประเภท แต่จะเน้นตรวจรถมอเตอร์ไซด์รับจ้างและรถเเท็กซี่เป็นพิเศษควบคู่ไปกับการอำนวยความสะดวกทางจราจรและการให้บริการประชาชนที่จะใช้รถโดยสารด้วย เนื่องจากวันนี้การจราจรบริเวณบีทีเอส หมอชิตค่อนข้างหนาแน่น  แต่ถ้าพบการกระทำผิดของรถโดยสารสาธารณะก็จำเป็นจะต้องดำเนินการตามกฎหมาย



สำหรับรถแท็กซี่จะตรวจหลายอย่าง ตั้งแต่ตรวจการนำรถป้ายแดงมาวิ่งรับผู้โดยสาร ซึ่งถือว่าผิดกฎหมาย เพราะรถแท็กซี่ป้ายแดงเป็นรถที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก จึงนำมาวิ่งไม่ได้ ถ้าพบจะมีโทษปรับขั้นต่ำ 500 บาท และจะออกใบสั่งให้รีบนำรถไปขึ้นทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกให้เร็วที่สุด ซึ่งปกติรถทุกคันจะต้องขึ้นทะเบียนก่อนจึงจะนำมาวิ่งรับผู้โดยสารได้ แต่ก็มักพบรถแท็กซี่ฝ่าฝืนกฎดังกล่าวเป็นระยะ





นอกจากนี้จะตรวจรถแท็กซี่ที่หมดอายุการใช้งาน ถ้าพบก็จะสืบต่อว่ารถหมดอายุใช้งานมาเกิน 30 วันหรือยัง ถ้ายังก็จะแจ้งว่าห้ามรับผู้โดยสารอีกและให้ไปเปลี่ยนประเภทรถเป็นรถยนต์ส่วนบุคคลทันที ส่วนหากหมดอายุเกิน 30 วันแล้ว เจ้าหน้าที่ก็จะดำเนินการถอดป้ายทะเบียนทันทีเพื่อมิให้นำไปวิ่งอีก โดยทั้งสองกรณีต้องเสียค่าปรับ 1,000 บาท รวมทั้งจะตรวจการชำระภาษี, ตรวจบัตรติดหน้ารถ, ตรวจการนำรถเข้าตรวจรอบมิเตอร์ตามคำสั่งนายทะเบียน, ตรวจการแต่งกายที่มีโทษปรับ 500 บาท รวมไปถึงตรวจรถแท็กซี่ที่ปฏิเสธผู้โดยสารด้วย ยอมรับว่าจากการลงพื้นที่วันนี้แม้จะไม่พบรถแท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสารแต่ปัจจุบันกรมการขนส่งทางบกก็ยังได้รับการร้องเรียนการปฏิเสธผู้โดยสารอยู่เป็นระยะ และถ้าไปตรวจในจุดสัญจรใหญ่ๆก็จะพบการกระทำผิดของรถแท็กซี่ในกรณีต่างๆได้เยอะขึ้น



ในวันนี้พบรถแท็กซี่กระทำผิดจำนวน 2 คัน แบ่งเป็นแท็กซี่ป้ายแดง 1 คัน และรถแท็กซี่หมดอายุจำนวน 1 คัน โดยพบรถแท็กซี่ต่อรองขอลดค่าปรับ 1 คัน ทั้งนี้ยังพบว่ารถแท็กซี่หมดอายุที่ตรวจยึดได้นั้น มีการนำฟิวเจอร์บอร์ดสีเหลืองมาติดปลอมเป็นพื้นหลังของป้ายทะเบียนและนำปากกาเมจิกมาเขียนทับเป็นตัวอักษรทะเบียนรถด้วย 1 ด้าน ส่วนอีกด้านแม้จะเป็นทะเบียนรถที่มีอยู่จริง แต่พบว่าหมดอายุใช้งานแล้ว และเจ้าหน้าที่คาดว่าอาจมีการจ้างร้านให้ผลิตป้ายทะเบียนปลอมดังกล่าวมาติด เนื่องจากป้ายไม่มีตราของกรมการขนส่งทางบกกำกับ ทั้งสันนิษฐานว่ารถคันดังกล่าวอาจเคยถูกถอดป้ายมาก่อนแล้ว แต่นำป้ายปลอมทั้งสองด้านนี้มาสวมซ้ำ ซึ่งคนขับบอกว่าไม่ทราบว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะตัวเองเห็นรถจอดที่อู่ แล้วก็นำรถออกวิ่งตามปกติ





ส่วนรถมอเตอร์ไซด์รับจ้างจะเน้นตรวจรถมอเตอร์ไซด์ป้ายดำเป็นหลัก เพราะถือว่าเป็นการนำรถมาใช้งานผิดประเภท โดยรถมอเตอร์ไซด์ป้ายดำถือเป็นรถส่วนบุคคลที่จะนำมาวิ่งรับผู้โดยสารไม่ได้ ถ้าพบก็จะปรับ 2,000 บาท ตามพระราชบัญญัติรถยนต์ ยอมรับว่ามีพบบ้าง แต่หลายครั้งรถมอเตอร์ไซด์จะเห็นทัน และพยายามขับหลบหนีบ้าง หรือถอดเสื้อวินทิ้งบ้าง เพื่อหลบความผิด นอกจากนี้ยังเคยพบการนำรถมอเตอร์ไซด์ไม่มีป้ายทะเบียนมาวิ่งรับผู้โดยสารด้วย ซึ่งก็จะปรับในอัตรา 2,000 บาทเท่ากันทั้งสองกรณี นาย สุรพล ยังระบุว่า เคยถามถึงสาเหตุที่รถมอเตอร์ไซด์รับจ้างไม่ยอมนำรถไปทำเป็นป้ายทะเบียนสีเหลืองให้ถูกต้อง ซึ่งหลายครั้งคนขับรถมอเตอร์ไซด์จะอ้างถึงปัญหาเรื่องเงินและขั้นตอนที่มีปัญหา





โดยวันนี้พบรถมอเตอร์ไซด์ป้ายดำจำนวน 1 คันซึ่งแต่งตัวเหมือนวินทั่วไปปกติ ทั้งนี้คนขับก็ยอมรับว่าทำผิดจริง จึงปรับ 2,000 บาท พร้อมแจ้งให้ไปรายงานตัวที่กรมการขนส่งทางบกภายใน 7 วัน หากไม่ไปรายงานตัวตามกำหนดก็จะมีโทษปรับอีกอย่างน้อย 200 บาท นอกจากเรื่องป้ายดำแล้ว ก็จะดูการแต่งกายด้วย แต่วันนี้ไม่พบการกระทำผิด



 



 



ธีรวัฒน์ สิทธิเกรียงไกร ผสข.

ข่าวทั้งหมด

X