อุตุฯ เตือนพายุฤดูร้อน 6-9 มี.ค. ช่วงที่ร้อนที่สุดปลายเม.ย.ต่อต้นพ.ค.

05 มีนาคม 2561, 14:42น.


การเข้าสู่ฤดูร้อนและพายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน ซึ่งมีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 6-9 มีนาคม 2561 นายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย  อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยว่า  ประเทศไทยได้สิ้นสุดฤดูหนาวและเข้าสู่ฤดูร้อนในช่วงวันที่ 3 มีนาคม 2561 และอากาศจะเริ่มมีอุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อยๆ  





ช่วงที่ร้อนที่สุดคาดว่าจะเทียบเท่าเมื่อปีที่ผ่านมา บริเวณที่ร้อนที่สุด คาดว่า เป็นพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน เช่นจังหวัดสุโขทัย อุตรดิตถ์ ซึ่งมีอุณหภูมิ มากกว่า 42 องศาเซลเซียส ซึ่งจะอยู่ในช่วง 27 เมษายน หรือก่อนหน้านั้นสามวัน หรือหลังจากนั้นสามวัน คือช่วงปลายเดือนเมษายนต่อต้นเดือนพฤษภาคม  ส่วนพื้นที่กรุงเทพมหานคร อุณหภูมิจะอยู่ที่ 37 องศาเซลเซียส 



นอกจากนี้ ระหว่างวันที่ 6-9 มีนาคม 2561 ประเทศไทยจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง และลมกรรโชกแรงกับมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยพื้นที่ที่มีผลกระทบในช่วงวันที่ 6-7 มี.ค. ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วย จ.เลย หนองบัวลำภู หนองคาย อุดรธานี บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี  / ภาคตะวันออก เช่นที่ จ.นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา และชลบุรี / ภาคกลาง จ.นครสวรรค์ ลพบุรี สระบุรี อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา  รวมทั้งกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล





ส่วนพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบในระหว่างวันที่ 8-9 มี.ค.ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดเลย หนองบัวลำภู ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีษะเกษ และอุบลราชธานี /ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน ลำพูน ลำปาง ตาก สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตรและเพชรบูรณ์ /ภาคกลาง จ.นครสวรรค์ ลพบุรี สระบุรี อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา  สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี รวมทั้งกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล /ภาคตะวันออก เช่นที่จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด และภาคใต้ จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพรและสุราษฎร์ธานี



จึงขอให้ประชาชนที่อยู่บริเวณดังกล่าวหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง ในขณะที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ขณะที่ เกษตรกรควรระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรด้วยเช่นกัน ซึ่งได้มีการแจ้งข่าวไปยังกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และผู้ว่าราชการจังหวัดในแต่ละจังหวัดให้เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์แล้ว ขณะที่ กรุงเทพมหานคร คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดในวันที่ 7 และ 8 มีนาคมนี้



ผู้สื่อข่าว : ปิยะธิดา เพชรดี 



 



 



 

ข่าวทั้งหมด

X