ชาวเขาเผ่าม้ง เผย ผลปลูกกัญชง แปรเป็นเส้นใยใช้ทอผ้า หวังเป็นพืชศก.สร้างรายได้

17 มกราคม 2561, 18:37น.


หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ลงพื้นที่ติดตามการวิจัยการเพาะปลูก กัญชงหรือเฮมพ์แล้ว ได้เดินทางต่อไปยังอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อศึกษาการแปรรูปเส้นใยกัญชง



นายเกษม แซ่โซ้ง อดีตผู้ใหญ่บ้านแม่สาน้อย เล่าว่า ต้นกัญชงหรือเฮมพ์ เป็นต้นที่บรรพบุรุษชาวเขาเผ่าม้งปลูก เพื่อทำเครื่องนุ่งห่มโดยมีความเชื่อว่า หากจากโลกนี้ไปแล้วร่างกายไม่มีต้นกัญชงติดตัวไป จะไม่ได้ไปพบเจอกับบรรพบุรุษ ทำให้ เมื่อชาวม้งเสียชีวิตลง จะมีการสวมใส่เสื้อผ้าที่ทำจากต้นกัญชง ซึ่งถือเป็นความเชื่อที่อยู่กับชาวม้งมาโดยตลอด แต่ในปัจจุบันการปลูกต้นกัญชงมีข้อจำกัดว่าหากต้องการปลูก ต้องขอเมล็ดจากทางหน่วยงานผู้ดูแล ไม่สามารถที่จะเก็บเพื่อปลูกเองได้ ยอมรับว่าอาจจะไม่มีความสะดวกเหมือนแต่ก่อน ทำให้จากเดิมในสมัยก่อนที่มีการปลูกต้นกัญชงอยู่ที่ 40 - 50 ครัวเรือน ปัจจุบันมีจำนวนลดน้อยลง อีกทั้งยอมรับว่า กังวลว่ากัญชงที่สืบทอดมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษจะหายไป เพราะเด็กรุ่นใหม่นั้นรู้จักต้นกัญชงน้อย และไม่ได้คลุกคลีอยู่กับการปลูกเหมือนคนรุ่นก่อน อีกทั้งวิธีการขอที่ยุ่งยากขึ้น อย่างไรก็ตามก็ยังหวังให้กัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจ หากได้รับการส่งเสริมจากหน่วยงาน เพราะจะสามารถสร้างรายได้ให้ชุมชนเผ่าม้งได้





สำหรับการปลูกกัญชง นายเกษม เล่าว่า จะปลูกปีละ 1 ครั้งในฤดูฝนช่วงเดือน มิ.ย. เมื่อเติบโตแล้ว จะนำไปตาก 3 เดือน ก่อนแยกใบกับต้นออก แล้วนำต้นมาตากอีก 1 สัปดาห์ นำมาปลอกเปลือก แล้วต่อเป็นเส้นยาว เพื่อใช้ทอเครื่องนุ่งห่ม ส่งขายในตัวเมืองและใช้เองในครัวเรือนโดยในพื้นที่ 1 งาน จะสามารถถักชุดที่ได้จากต้นกัญชงประมาณ 2 ชุด





ขณะวิธีการเข้าไปกำกับดูแลชาวเขาเผ่าม้งที่ปลูกต้นกัญชง ดร.สริตา ปิ่นมณี นักวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) กล่าวว่า เนื่องจากต้นกัญชงยังคงเป็นพืชที่อยู่ในยาเสพติดประเภท 5  ทำให้ต้องมีหน่วยงานไปดูแลตรวจสอบผู้ที่จะปลูก โดยต้องลงทะเบียนทำข้อตกลง และทุกครั้งต้องมาขอเมล็ดจากทางสถาบันวิจัยพัฒนาพื้นที่สูง ซึ่งมีข้อตกลงว่าต้องปลูกให้ได้ค่าสารเสพติดต่ำ ระบุพิกัดเพาะปลูกที่ชัดเจน เพื่อให้สถาบันวิจัยพัฒนาพื้นที่สูงเข้าไปตรวจสอบ รวมทั้งไม่ปลูกพืชเสพติดอื่นแซม และต้องส่งตัวอย่างใบกัญชงให้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจสารเสพติดด้วย ขณะที่การส่งเสริมในอนาคตในเชิงพาณิชย์ ยังคงเน้นเส้นใยต้นกัญชง ที่เป็นคุณสมบัติเด่น แต่ก็มีปัญหาเรื่องกระบวนการแปรรูปที่มีต้นทุนสูงและยังไม่มีโรงงานผลิต ดังนั้นจึงต้องใช้ประโยชน์จากส่วนอื่นๆ จากต้นควบคู่ไปด้วย



ข่าวทั้งหมด

X