ครม.เห็นชอบร่างพรบ.คุ้มครองแรงงาน เน้นเพิ่มสิทธิลูกจ้าง หลังไม่ได้แก้มานาน

15 สิงหาคม 2560, 16:42น.


หลังกระทรวงแรงงานเสนอหลักการร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ตามที่ ซึ่งเป็นการปรับแก้จากกฎหมายเดิมที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2541 เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พลโทสรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายรัฐมนตรี เปิดเผยว่าที่ประชุมครม.ได้อนุมัติหลักการดังกล่าว โดยสาระสำคัญเป็นการเพิ่มสิทธิของลูกจ้าง  เช่น กำหนดให้นายจ้างเสียดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี กรณีที่นายจ้างผิดนัดจ่ายเงินค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า, กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิลากิจธุระจำเป็น ไม่น้อยกว่า 3 วันทำงานต่อปีโดยได้รับค่าจ้าง และให้ลูกจ้างสามารถลาเพื่อไปตรวจครรภ์ก่อนคลอดบุตรได้ ครั้งละ 90 วัน โดยได้รับค่าจ้าง 45 วัน กรณีนายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการไปที่อื่นโดยไม่บอกล่วงหน้า ลูกจ้างมีสิทธิ์บอกเลิกสัญญา และขอรับค่าชดเชยพิเศษจากนายจ้างได้ รวมทั้งกำหนดให้ลูกจ้างชายและหญิงที่ทำงานในตำแหน่งเดียวกัน ได้รับค่าจ้างในอัตราที่เท่ากัน


นอกจากนี้ ยังเพิ่มอัตราค่าชดเชยกรณีลูกจ้างทำงานติดต่อกันครบ 20 ปีขึ้นไป เมื่อถูกเลิกจ้างโดยไม่มีความผิด ให้มีสิทธิ์รับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 400 วัน จากของเดิมกำหนด 10 ปีขึ้นไปถึงจะได้รับค่าจ้าง 300 วัน


การปรับแก้ดังกล่าวมีขึ้นหลังจากกฎหมายเดิมที่ใช้มาเวลานาน และกฎหมายคุ้มครองบางข้อไม่เหมาะสมกับสภาพปัจจุบัน  ไม่เอื้อประโยชน์ต่อการคุ้มครองลูกจ้าง นอกจากนี้ยังถือเป็นการปรับสอดคล้องตามนโยบายรัฐบาลในการความเหลื่อมล้ำทางสังคม และ สร้างโอกาสการเข้าถึงบริการของรัฐ 


นอกจากนี้ครม. อนุมัติกรอบวงเงิน การเวนคืนที่ดินอสังหาริมทรัพย์ ริมทางรถไฟทางคู่ชายฝั่งทะเลตะวันออก ฉะเชิงเทรา-คลอง 19 - แก่งคอย ที่ครม. เคยอนุมัติเมื่อปี 2555 ที่กำหนดให้งบประมาณเวนคืน รื้อถอนอยู่ที่ 128 ล้านบาท เพิ่มเป็น 371 ล้านบาท โดยยึดอัตราการประเมินที่ดิน ในปี 2559-2562 โดยนายกรัฐมนตรีกำชับให้การจ่ายเงินชดเชยต้องไม่ให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนและมีความเหมาะสม
ข่าวทั้งหมด

X