การใช้คำราชาศัพท์ต่างๆ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำนักพระราชวัง ได้กรุณาออกข่าวคำชี้แจงให้ได้ความรู้ ชอบที่นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัตร อดีตรมว.วัฒนธรรม ที่ระบุว่าภาวะนี้เป็นภาวะที่ประชาชนทุกข์โศกและจงรักภักดี ใจคิดอะไรก็พูดออกมาจะใช้คำศัพท์อะไรก็ใช้ ไม่อยากที่จะให้การใช้ศัพท์หรือภาษามาเป็นอุปสรรคกีดกันขัดขวางการจงรักภักดี แบบนี้ถูกต้องที่สุด ขอให้ระวังอย่าให้ไปเป็นการลดทอนพระบรมเดชานุภาพ ขอให้ใช้ให้ถูกต้องตามระเบียบแบบแผน รองนายกฯ ยกตัวอย่างคำว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ มีอยู่ในกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์มาตรา 6 หรือจะเรียกว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เฉยๆก็ได้ เพราะเรายังไม่มี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ การเรียกดังกล่าวจึงเข้าใจได้ว่าหมายถึงองค์ที่เสด็จสวรรคต
นายวิษณุ กล่าวว่า ขออย่าตำหนิคนที่ใช้คำศัพท์ผิดหรือการแต่งกายชุดดำชุดขาว ซึ่งสิ่งที่สำคัญกว่าการใช้ตามระเบียบแบบแผนคือความรู้สึกที่เกิดขึ้น ส่วนเรื่องการจุดเทียนรอบกำแพงพระบรมมหาราชวังเป็นการแสดงออกแบบฝรั่ง ในส่วนตัวเห็นว่า หากมีการจัดการหาที่ให้ ก็เป็นเรื่องที่ดี จะประสานและแจ้งให้หาสถานที่ที่เหมาะสมต่อไป รัฐบาลขอขอบคุณประชาชนด้วย
สำหรับการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้ นายวิษณุ ยืนยันว่า ยังเป็นไปตามปกติ คาดว่า จะมีการหารือถึงการเตรียมการพระราชพิธีพระบรมศพ และการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ที่ต้องการเดินทางมาถวายสักการะพระบรมศพ ขณะที่การสร้างพระเมรุมาศ ยังจะต้องรอพระราชวินิจฉัย จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ก่อน เพราะเป็นเรื่องที่มีรายละเอียดมาก แต่จากการพูดคุยกับสำนักพระราชวัง พบว่า อาจจะต้องมีสิ่งก่อสร้างจำนวนมาก เพราะนอกจากพระเมรุมาศแล้ว ยังจะต้องมีศาลาทรงธรรม ศาลาพลับพลา ที่จะต้องสร้างเพิ่มเติม
นายวิษณุ ย้ำถึงโรดแมพของรัฐบาลว่า ยังคงเป็นไปตามเดิม ไม่มีผลกระทบ ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญขณะนี้ เจ้าหน้าที่อาลักษณ์ อยู่ระหว่างการเขียนลงสมุดไทย ที่คาดว่าจะเสร็จสิ้นในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ ส่วนการนำขึ้นทูลเกล้าฯ รัฐบาลมีเวลาจนถึงวันที่ 9 พฤศจิกายน จากนั้นสำนักราชเลขาธิการจะเป็นผู้ดำเนินการต่อ โดยพระมหากษัตริย์ ทรงมีเวลาวินิจฉัย 90 วัน คาดว่าจะพระราชทานกลับในช่วงปลายเดือนธันวาคม ถึงต้นปี 2560 จึงขออย่ากังวล เนื่องจากสิ่งที่จะต้องกังวล คือ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. จะต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลา 8 เดือน นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ แต่ก็ขออย่างกังวล เพราะ กรธ. ได้ยกร่างกฎหมายบางฉบับขึ้นบ้างแล้ว ทุกอย่างจึงดำเนินการไปปกติ รวมทั้งโรดแมพการเลือกตั้งที่ยังไม่เปลี่ยนแปลง
ผู้สื่อข่าว :ปิยะธิดา เพชรดี