สธ.ให้คนรับซิโนฟาร์ม 2 เข็ม รับบูสเตอร์โดส คาด พ.ย.นี้เริ่มฉีด

21 ตุลาคม 2564, 14:44น.


การรับบูสเตอร์โดส หลังได้รับวัคซีนซิโนฟาร์ม นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงผลการประชุมคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคโควิด-19 คือ



1.องค์การอนามัยโลกแนะนำการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น หรือเข็มที่ 3 ซึ่งประเทศไทยส่วนใหญ่ฉีดเชื้อตาย คือ ซิโนแวค 2 เข็ม พบว่าฉีดระยะหนึ่งภูมิลดลง การฉีดเข็มกระตุ้นจึงเกิดประโยชน์ โดยไทยฉีดต่างชนิดด้วยแอสตร้าเซนเนก้า ที่เป็นไวรัลเว็กเตอร์ ทั้งนี้ การฉีดปูพื้น หรือ Prime ด้วยเชื้อตาย และฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีนอีกชนิดช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันสูงมาก



“โดยประเทศไทยจะฉีดเข็มกระตุ้นชนิดต่างกันจากปูพื้นตอนต้น เช่น เราฉีดเชื้อตายก่อน จากนั้นตามด้วยไวรัลเวคเตอร์ และ mRNA ไล่เรียงกันไปปรับให้เข้ากับสถานการณ์ตามวัคซีนที่เรามี สอดคล้องกับคำแนะนำองค์การอนามัยโลกซึ่งประเทศไทยทำล่วงหน้าไปแล้ว และ



2.คำถามเรื่องการฉีดกระตุ้นในกลุ่มที่ฉีดวัคซีนเชื้อตายซิโนฟาร์ม รองผู้อำนวยการโรงพยาบาล (รพ.) จุฬาภรณ์ ได้มาให้ข้อมูลคณะอนุกรรมการฯ ว่า ขณะนี้มีคนฉีดซิโนฟาร์ม 2 เข็ม ไประยะหนึ่งพอสมควร และแนวโน้มการฉีดกระตุ้นจะเป็นอย่างไร โดยคณะอนุกรรมการฯ มีความเห็นว่าการพิจารณาคนฉีดซิโนฟาร์มซึ่งเป็นเชื้อตายแบบเดียวกับซิโนแวค หลักคิดให้ใช้หลักการเดียวกัน คือ กลุ่มฉีดซิโนแวค ฉีดเข็มที่ 3 ให้คนที่ฉีดครบ 2 เข็ม เกิน 3-4 เดือนขึ้นไป เช่น เดือนมีนาคมฉีดครบ 2 เข็ม ก็ฉีดกระตุ้นในเดือนกันยายน-ตุลาคม ดังนั้น กลุ่มฉีดซิโนฟาร์มครบ 2 เข็ม ช่วงเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป จะกำหนดฉีดเข็มกระตุ้นประมาณปลายพฤศจิกายน ถึงต้นเดือนธันวาคมนี้เป็นต้นไป



          โดยคณะอนุกรรมการฯ ขอให้ รพ.จุฬาภรณ์ ส่งข้อมูลเอกสารหลักฐานที่มีการศึกษาพบว่า จำเป็นต้องฉีดเข็มกระตุ้น เนื่องจากภูมิคุ้มกันลดลง ให้คณะอนุกรรมการฯ ใช้เป็นข้อมูลประกอบก่อนที่จะมีการประกาศให้ประชาชนได้ฉีดต่อไปในวงกว้าง และทาง รพ.จุฬาภรณ์ ส่งข้อมูลครบถ้วนเมื่อไร คณะอนุกรรมการฯ จะรีบพิจารณาและประกาศฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นต่อไป



          กรณีการฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็มที่ 2 ในเด็กผู้ชาย  ขณะนี้ ผ่านไปแล้ว 2 สัปดาห์ ฉีดประมาณ 2 ล้านโดส สิ่งที่คณะผู้เชี่ยวชาญพิจารณามี 2 เรื่อง คือ ประสิทธิภาพและความปลอดภัย ซึ่งพิจารณาแล้วพบว่า วัคซีนไฟเซอร์ที่ฉีดเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ถ้าฉีด 2 เข็ม ระดับภูมิคุ้มกันเพียงพอต่อสู้สายพันธุ์เดลต้าได้เมื่อเทียบกับฉีด 1 เข็ม อย่างมีนัยสำคัญ



          ส่วนความปลอดภัยนั้น ข้อกังวลเรื่องภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ กุมารแพทย์โรคหัวใจและผู้เชี่ยวชาญมาให้ข้อมูลว่า วัคซีนไฟเซอร์มีความเป็นไปได้เกิดผลข้างเคียงการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจ 6 คน ในแสนคน แต่เมื่อเทียบแล้ว เด็กติดโควิด-19 มีโอกาสเกิดอาการกลุ่ม MIS-C ที่ทำให้เกิดการอักเสบทั่วร่างและกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบมีมากกว่าการฉีดวัคซีนมาก การฉีดวัคซีนอาจเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้ แต่น้อย และหายเองได้ เทียบประสิทธิภาพและผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น อุบัติการณ์เกิดผลข้างเคียงน้อยกว่ามาก คณะอนุกรรมการฯ จึงแนะนำให้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็มที่ 2 ในเด็กชายต่อไป ตามหลักการที่กำหนดไว้ คือ ตามความประสงค์ของผู้ปกครองและนักเรียนภายใต้ข้อมูลที่เพียงพอต่อการตัดสินใจ เพื่อคำนึงถึงประโยชน์การป้องกันโรคโควิด-19 เป็นหลัก และความเสี่ยงการรับวัคซีน



          นพ.โอภาส แนะนำงดออกกำลังกายหนักหลังรับวัคซีน 7 วัน หากรับวัคซีน 7 วัน แล้วมีอาการใจสั่น เจ็บหน้าอก หายใจไม่อิ่ม หอบเหนื่อยให้รีบไปพบแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์จะให้ข้อมูลผู้ปกครองเพื่อตัดสินใจและเฝ้าระวังอย่างเพียงพอ 



           อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก แคนาดา สหรัฐอเมริกา ยุโรป ออสเตรเลีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ก็ให้วัคซีนเด็ก 12 ปีขึ้นไปแบบประเทศไทย สอดคล้องกับมติและการรับรองให้ฉีดวัคซีนได้ขององค์การอนามัยโลก



#ฉีดบูสเตอร์โดส



#วัคซีนโควิด19



CR:กรมควบคุมโรค

ข่าวทั้งหมด

X