ศาลแพ่งมีคำสั่งให้รับคำฟ้องในคดีหมายเลขดำที่ 4639/2564 ที่นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ กับพวกรวม 3 คนยื่นฟ้องพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กับพวกรวม 5 คนขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 15) ข้อ 3 และประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงฉบับที่ 3ข้อ 2ข้อ 3 และข้อ 4 ,ฉบับที่ 5และฉบับที่ 11และให้ไม่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ต้น และขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้ง3 พร้อมรับคำร้องขอให้ศาลไต่สวนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราว ในกรณีฉุกเฉิน
ล่าสุด ศาลแพ่ง ได้ออกนั่งพิจารณาไต่สวนพยานหลักฐานแล้วมีคำสั่ง สรุปใจความได้ว่า ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อดังกล่าวยังพบว่ามียอดผู้ติดเชื้อและเสียชีวิต แม้ว่าโจทก์ทั้ง3 จะอ้างว่าไม่มีหลักฐานใดชี้ให้เห็นว่าการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อดังกล่าวมาจากการชุมนุมสาธารณะ โดยการรวมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมของบุคคลจำนวนมากย่อมเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อดังกล่าวได้ง่าย ขณะที่โจทก์ที่ 2 เบิกความว่า รู้สึกกลัวการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อดังกล่าว จึงต้องใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือและหน้ากากอนามัยในการมาชุมนุมยิ่งแสดงให้เห็นว่ายังมีความจำเป็นต้องบังคับใช้มาตรการด้านสาธารณสุขในการเว้นระยะห่างเพื่อป้องกันมิให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อดังกล่าวในลักษณะกลุ่มก้อน (Cluster) ภายในประเทศกระจายไปในวงกว้าง
กรณีตามคำร้องของโจทก์ทั้ง3 จึงยังไม่มีเหตุผลเพียงพอและยังไม่มีความจำเป็นเพื่อคุ้มครองชั่วคราว พิพากษายกคำร้องของโจทก์ทั้ง3
สำหรับคดีโจทก์ทั้ง 3 คือนายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) , นางชุมาพร แต่งเกลี้ยง ตัวแทนกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก และ นายอรรถพล บัวพัฒน์ หรือครูใหญ่ แนวร่วมม็อบคณะราษฎร ที่ยื่นขอให้เพิกถอนข้อกำหนดที่ออกตามความมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ พ.ศ.2548 และละเมิด เรียกทุนทรัพย์ชดใช้ 4,500,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี ฟ้องเมื่อวันที่ 5 ต.ค. 64
ส่วนจำเลยที่ 1-6 ประกอบด้วยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา,พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์,สำนักนายกรัฐมนตรี ,กองบัญชาการกองทัพไทย,กระทรวงการคลัง ,สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
#ศาลแพ่ง
#ยกคำร้องคุ้มครองชั่วคราว
#ไอลอว์