ไม่ควรแช่ตู้เย็น! “แตงโม - กล้วย – กระเทียม/หอมหัวใหญ่ - อาหารกระป๋อง” ทำคุณภาพอาหารเสื่อม อันตรายต่อร่างกาย

11 กันยายน 2563, 15:26น.


            หลาย ๆ คนมีความเชื่อความเข้าใจว่าการเก็บอาหารในตู้เย็นจะเป็นการถนอมอาหารให้คงอยู่ยาว ๆ ได้ แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าอาหารทุกชนิดจะสามารถแช่เอาไว้ในตู้เย็นได้ เนื่องจากความเย็นอาจไปลดคุณภาพอาหารให้เสื่อมลง และอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายตามมา ด้วยความห่วงใยจาก ดร.วนะพร ทองโฉม นักวิชาการโภชนาการ กลุ่มสาขาวิชาโภชนศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้ออกมาอธิบายถึงอาหาร 4 ชนิดที่ไม่ควรแช่ตู้เย็น พร้อมแนะนำวิธีการเก็บรักษาที่เหมาะสม

4 อาหารไม่ควรแช่ตู้เย็น


            1. แตงโม

             อาหารชนิดแรกที่ไม่ควรแช่ตู้เย็น คือแตงโม เพราะผลไม้ชนิดนี้มีน้ำเยอะ โมเลกุลของน้ำเมื่อโดนความเย็นจะมีความหนาแน่นมากขึ้น ทำให้เนื้อแตงโมมีอาการฉ่ำน้ำ ชุ่มน้ำ รสชาติแย่ลง เปลี่ยนแปลงนี้เรียกว่าอาการสะท้านหนาว (Chilling Injury) ของการผลไม้ไปแช่ในที่ที่มีอุณหภูมิต่ำเกินไป โดยแตงโมจะเกิดอาการสะท้านหนาวที่อุณหภูมิต่ำกว่า 7 องศาฯ

            ข้อแนะนำในการเก็บรักษาแตงโมควรเก็บในอุณหภูมิห้อง แต่หากใครอยากกินแตงโมที่เนื้อเย็นๆ ก็สามารถนำไปแช่ตู้เย็นระยะเวลา 2 – 3 ชม.

            2. กล้วย


            ในที่นี้พูดถึงกล้วยดิบซึ่งกล้วยจัดว่าเป็นอาหารที่ไวต่อการสะท้านหนาว โดยที่เปลือกจะเปลี่ยนเป็นสีดำเมื่อเราเก็บไว้ในที่ที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า 8 องศาฯ นอกจากนี้อุณหภูมิที่เย็นจะไปยับยั้งกระบวนการสุกของกล้วยเนื่องจากอุณหภูมิที่เย็นจะไปยับยั้งการผลิตก๊าซเอทิลีน (C2H2) ที่ทำให้การสุกของกล้วยไม่เสร็จสมบูรณ์ ซึ่งการกินกล้วยดิบจะทำให้มีสารเทนนินสูง และมีแป้งที่เอนไซม์ไม่สามารถย่อยได้ ทำให้ท้องผูกได้นั่นเอง

            ข้อแนะนำในการเก็บรักษากล้วยควรอยู่ในอุณหภูมิห้องและพ้นแสงแดด ระยะเวลาระหว่างกล้วยดิบไปจนสุกจะอยู่ที่ประมาณ 7 – 10 วัน

             3. กระเทียม หอมหัวใหญ่


            เนื่องจากความเย็นจะทำให้กระเทียมและหอมหัวใหญ่เน่าเสียได้ง่าย เกิดจากความชื้นในตู้เย็นส่งผลกระทบให้เกิดเชื้อรา โดยเชื้อราที่เกิดขึ้นอาจจะผลิตสารพิษทีอาจทำให้เป็นอันตรายต่อเซลล์ ต่อตับ รวมถึงสารก่อมะเร็งได้ นอกจากนี้ความเย็นยังทำลายเนื้อสัมผัสของหอมหัวใหญ่ทำให้เกิดความเหี่ยว นิ่ม ไม่กรอบไม่น่ากิน

             ข้อแนะนำในการเก็บรักษาหากเป็นกระเทียมไม่ควรแกะกลีบแยกใดๆ ส่วนหอมหัวใหญ่ควรเก็บแบบเดิม มีเปลือกในที่แห้ง มี่ความชื้น อากาศถ่ายเทสะดวก ซึ่งระยะเวลาในการเก็บรักษาจะอยู่ได้นาน  1 – 2 เดือน

              4. อาหารกระป๋อง


              อาหารกระป๋องในที่นี้หมายถึงอาหารกระป๋องที่เป็นของคาวและผลไม้ ซึ่งสาเหตุที่ไม่ควรนำอาหารกระป๋องเข้าตู้เย็นเพราะความชื้นและออกซิเจนเมื่อเปิดฝากระป๋องจะเป็นปัจจัยทำให้เกิดการกัดกร่อนและสนิมของตัวกระป๋องเข้ามาในตัวอาหารได้มื่อเรากินโลหะหนักที่เกิดจากการปนเปื้อนการกัดกร่อนตัวกระป๋องจะทำให้เกิดพิษต่อเซลล์ในร่างกาย พิษต่อตับและอาจก่อสารมะเร็งตามมาได้

             ข้อแนะนำในการเก็บรักษาอาหารกระป๋อง เนื่องจากอาหารกระป๋องถูกออกแบบมาเพื่อเก็บในอุณหภูมิห้องได้ ดังนั้นหากต้องการกินควรเทใส่ภาชนะแยกแล้วจึงแช่ในตู้เย็น หรือกรณีที่อยากกินผลไม้กระป๋องแบบเย็นๆ สามารถนำตัวกระป๋องแบบยังไม่เปิดแช่ไว้ได้เป็นระยะเวลา 2 – 3 ชม.

             
เมื่อรู้อย่างนี้แล้วก็หวังว่าทุก ๆ จะเข้าใจ และใส่ใจเลือกปฏิบัติตามอย่างถูกต้องเหมาะสม เพื่อให้อาหารคงคุณภาพ รวมถึงมีร่างกายแข็งแรง ปราศจากโรคภัยตามมาในระยะยาว



 



ข้อมูล : Mahidol Channel

 







 



 

X