!-- AdAsia Headcode -->

รถบัสชั้นเดียว VS รถบัส 2ชั้น รถประเภทไหนอันตรายกว่ากัน!? ตอน “มหันตภัยรถบัส 2 ชั้น”

18 มีนาคม 2559, 10:27น.


ต่อเนื่องจากกระทู้ก่อนหน้า >> รถตู้ VS รถบัส รถประเภทไหนอันตรายกว่ากัน!? ตอน “เกาะประเด็นรถตู้”

      มาดูกรณีรถบัสโดยสารสองชั้นกันบ้าง ประเด็นเรื่องการยกเลิกการใช้รถบัสสองชั้นที่ท่านนายกฯ ได้เคยพูดไว้ ก็เป็นประเด็นร้อนอีกเรื่องหนึ่งที่ทางผู้ประกอบการต่างออกมาให้ความเห็นแย้งว่ารถบัสสองชั้นที่นิยมใช้งานกันอยู่ในปัจจุบัน ไม่ปลอดภัยอย่างไร ต่างพูดกันว่า ตัวรถเองนั้นไม่น่ามีปัญหา ปัญหาน่าจะเกิดจากผู้ขับขี่มากกว่า ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทยจึงได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ จากข้อมูลอุบัติเหตุของกรมการขนส่งทางบกในปี พ.ศ. 2558 พบว่า อัตราการเกิดอุบัติเหตุของรถบัสสองชั้น ต่อจำนวนรถบัสสองชั้น ที่จดทะเบียน 10,000 คัน สูงกว่า อัตราการเกิดอุบัติเหตุของรถบัสชั้นเดียว ต่อจำนวนรถบัสชั้นเดียวที่จดทะเบียน 10,000 คัน ถึง 6 เท่า หรือกล่าวง่ายๆได้ว่า “รถบัสสองชั้นมีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ สูงกว่า รถบัส ชั้นเดียว ถึง 6 เท่า” ส่วนอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถบัสสองชั้น นั้น ก็สูงกว่า อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถบัสชั้นเดียว ถึง 6 เท่า เช่นเดียวกัน หรือ “การเดินทางด้วยรถบัสสองชั้น มีความเสี่ยงในการเสียชีวิตมากกว่า การโดยสารรถบัสชั้นเดียว ถึง 6  เท่า ถ้าเปรียบเทียบตัวเลขในลักษณะนี้แล้ว ก็จะเห็นได้ว่าปัจจัยของการเกิดอุบัติเหตุนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับผู้ขับขี่เพียงอย่างเดียว ตัวยานพาหนะเองก็น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ไม่เช่นนั้นทำไมอัตราการเกิดอุบัติเหตุของรถบัสสองชั้นถึงสูงกว่ารถบัสชั้นเดียวมากขนาดนี้





      ตัวเลขข้างต้นนี้ แสดงให้เห็นถึงข้อเท็จจริงที่ชัดเจนแล้วว่า รถบัสสองชั้น มีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุและทำให้ผู้โดยสารเสียชีวิตมากกว่ารถบัสชั้นเดียว และถ้าจะอธิบายปัญหาของตัวรถบัสสองชั้นตามหลักการทางด้านวิศวกรรม ก็มีดังนี้

      1) ปัญหาการพลิกคว่ำของรถบัสสองชั้น ที่มีโอกาสเกิดได้บ่อยกว่ารถบัสชั้นเดียว ไม่ว่าจะเป็นการพลิกคว่ำบนถนนหรือพลิกคว่ำข้างทาง โดยปัจจัยหลักที่เกี่ยวข้องคือตำแหน่งของจุดศูนย์ถ่วงที่อยู่สูงกว่ารถบัสชั้นเดียวทั่วไป เนื่องจากมิติของตัวรถบัสสองชั้นและน้ำหนักของผู้โดยสารและสัมภาระด้านบน

      2) ปัญหาความแข็งแรงของรถบัสสองชั้น ที่ส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 80 เป็นรถที่ประกอบขึ้นจากการนำคัสซีเก่ามาซ่อมแซมและดัดแปลงเป็นตัวถังรถใหม่   เพื่อลดต้นทุนในการนำเข้ารถใหม่จากต่างประเทศที่มีราคาสูงกว่าเท่าตัว ไม่มีการคำนึงถึงมาตรฐานของความปลอดภัย ทำให้เมื่อเกิดอุบัติเหตุ สภาพตัวรถจะบิดเบี้ยว หลังคาเปิด เบาะหลุดกระจัดกระจาย และผู้โดยสารกระเด็นไปคนละทิศคนละทาง

      3) นอกจากนี้ยังมีปัญหาอื่นๆ ที่รถบัสชั้นเดียวก็ประสบเช่นเดียวกัน ได้แก่ ปัญหาระบบเบรกลม ที่มักจะขัดข้องหรือหยุดทำงานขณะรถวิ่งลงเนินเขาเป็นระยะทางยาว ปัญหาการยึดเบาะที่นั่ง และปัญหาการไม่ติดตั้งเข็มขัดนิรภัยหรือติดตั้งแล้วแต่ผู้โดยสารไม่คาดเข็มขัดนิรภัย

      แต่สาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุรถบัสสองชั้น น่าจะเป็นที่มิติของตัวรถ หรือความสูงของตัวรถบัสสองชั้น โดยเมื่อประกอบกับความเร็วในการขับขี่ และสภาพถนนที่เป็นทางโค้ง จะทำให้รถบัสสองชั้นเกิดอุบัติเหตุเสียหลักหรือพลิกคว่ำได้ง่าย นี่จึงเป็นที่มาของประกาศกรมการขนส่งทางบกที่กำหนดให้รถบัสที่มีความสูงตั้งแต่ 3.6 ม.ขึ้นไปต้องผ่านการทดสอบพื้นเอียง 30 องศา โดยได้เริ่มกำหนดให้รถบัสที่จดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2556 ต้องนำรถเข้ามาผ่านการทดสอบพื้นเอียง ส่วนรถบัสที่จดทะเบียนก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2556 ก็ต้องทยอยนำรถเข้ามาทดสอบพื้นเอียงเช่นกัน แต่เมื่อปลายปีที่แล้ว กลับได้รับเสียงคัดค้านจากทางผู้ประกอบการ จึงทำให้กรมการขนส่งทางบกต้องอนุโลมให้กลุ่มรถบัสสูงกว่า 3.6 ม.ที่จดทะเบียนก่อน วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2556 ยังไม่ต้องนำรถมาทดสอบพื้นเอียง แต่จะต้องนำรถไปติด GPS ซึ่งเป็นมาตรการควบคุมการใช้ความเร็วของรถ และเมื่อถึงรอบที่รถบัสมีการเปลี่ยนตัวถัง ก่อนที่จะขอจดทะเบียนก็ต้องมาทดสอบพื้นเอียงก่อนเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ตัวถังจะมีอายุประมาณ 5-7 ปี นั่นก็หมายความว่า รถบัสรุ่นเก่าที่จดทะเบียนก่อน วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2556 ยังไงก็ต้องมาทดสอบพื้นเอียงอยู่ดี

      ในส่วนของการติด GPS นั้น อาจช่วยในเรื่องความปลอดภัยในการใช้รถบัสสองชั้นได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาด้านโครงสร้างของตัวรถที่ไม่เหมาะสมสำหรับการนำมาใช้เป็นรถโดยสารสาธารณะที่วิ่งระหว่างเมืองได้ ดังนั้น การลดปัญหาอุบัติเหตุจากรถโดยสารสองชั้น จึงควรให้มีการจำกัดการใช้งานและควบคุมจำนวนรถบัสสองชั้นมากกว่า โดยในระยะสั้นควรจำกัดเส้นทางการเดินรถ ของรถบัสสองชั้นในเส้นทางที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดอุบัติเหตุรุนแรง ได้แก่ เส้นทางบริเวณทางเขาที่มีทางโค้งและทางลาดชัน ส่วนในระยะยาว ควรมีมาตรการเข้มข้นในการจัดหารถโดยสารใหม่ไม่ว่าจะเป็นของภาครัฐหรือภาคเอกชน โดยควรสนับสนุนให้จัดซื้อเฉพาะรถบัสชั้นเดียว ในขณะเดียวกันการต่อทะเบียนรถบัสสองชั้นที่มีอยู่เดิมก็จะมีกฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้น ดังนั้นวิธีการนี้จะควบคุมปริมาณรถบัสสองชั้นให้น้อยลงเรื่อยๆ แบบค่อยเป็นค่อยไป จนกระทั่งรถบัสสองชั้นนั้นหายไปในที่สุด ผู้ประกอบการก็จะมีระยะเวลาให้ได้พิจารณาเปลี่ยนมาใช้รถบัสชั้นเดียวที่มีความปลอดภัยมากกว่า ซึ่งในภายภาคหน้า ถ้ามาตรการเหล่านี้ได้ผล จำนวนรถบัสสองชั้นที่จดทะเบียนในแต่ละปี คาดว่าน่าจะน้อยลง จนเราจะไม่เห็นอุบัติเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นกับรถบัสสองชั้นอีก



 เครดิตข่าว จส.100 :  

กดติดตามทวิตเตอร์ จส.100 ได้ที่นี่ : 

กดติดตามไลค์เพจ จส.100 ได้ที่นี่ :

สามารถดาวน์โหลด JS100 แอพพลิเคชั่น ได้ที่ :
 

X