โรคทางใจไม่ได้มีแค่ซึมเศร้า ทำความรู้จัก PTSD โรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง

25 สิงหาคม 2566, 14:51น.


      ในปัจจุบันผู้คนมักเกิดโรคและอาการที่เกี่ยวข้องทางจิตใจกันมากขึ้น สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการใช้ชีวิตพบเจอสิ่งต่างๆในแต่ละวัน อาจเกิดอุบัติเหตุ พบเจอความสัมพันธ์ที่ toxic เสพสื่อโซเชียลลบๆ ซึ่งสาเหตุเหล่านี้เป็นการยกตัวอย่างเท่านั้น ยังมีอีกหลายสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคทางจิตใจ หนึ่งในโรคทางใจที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่คือ โรคซึมเศร้า แต่รู้ไหมว่าโรคทางจิตใจไม่ได้มีแค่โรคซึมเศร้าเท่านั้น โรค PTSD ก็เป็นอีกหนึ่งโรคที่เกิดขึ้นในผู้คนเยอะมากขึ้นไม่ต่างกัน

      PTSD (Post-traumatic stress disorder) คือ สถาวะป่วยทางจิตใจที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากเหตุการณ์ร้ายๆ เช่น การถูกล่วงละเมิดทางเพศ ถูกขัง ถูกปล้น ถูกทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจ เห็นคนในครอบครัวหรือผู้อื่นเสียชีวิตต่อหน้า ประสบอุบัติเหตุที่ร้ายแรงและรุนแรงแต่สามารถรอดชีวิตมาได้ พบเจอเหตุการณ์สะเทือนขวัญ เช่น ไฟไหม้ แผ่นดินไหว การก่อจลาจล การฆาตกรรม สงคราม

ลักษณะอาการของภาวะ PTSD

อาการ Flash Back รู้สึกว่าได้กลับไปอยู่ในเหตุการณ์นั้นๆ

      เห็นภาพเหตุการณ์ร้ายแรงอยู่ซ้ำๆ ผุดขึ้นมาให้เห็นหรือฝันถึงเหตุการณ์นั้นอยู่บ่อยครั้ง อาจเห็นภาพลวงตา ภาพหลอนหรือมโนภาพขึ้นมาในจิตใจ ส่งผลให้สภาพจิตใจ ณ ปัจจุบัน เกิดอาการหวาดกลัว วิตกกังวล ร่วมกับอาการทางกาย เช่น เหงื่อออกมากตามมือเท้า หายใจลำบาก ปวดหัว คลื่นไส้

Avoidance/numbing หลีกเลี่ยงเหตุการณ์หรือสถานที่ที่จะส่งผลกระทบต่อจิตใจ

      ผู้ป่วยจะพยายามหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ ความคิด ความรู้สึก ที่คล้ายคลึงกับสถานการณ์เลวร้ายที่เคยพบเจอ พยายามหลีกเลี่ยงกิจกรรมและสถานที่หรือบุคคลที่กระตุ้นให้นึกถึงเหตุการณ์นั้นๆ ส่งผลให้ลักษณะนิสัย ทัศนคติและการใช้ชีวิตผิดแปลกไปจากเดิม กลายเป็นคนพูดน้อย เก็บตัว มองตัวเองในแง่ลบ ไม่มีความสุขกับชีวิต สนใจสิ่งที่ชอบลดลง ไม่สามารถรู้สึกถึงความรัก รู้สึกตัวเองไร้ค่า ไม่มีอนาคต จนอาจเกิดความคิดอยากฆ่าตัวตาย 

Hyperarousal อาการตกใจและหวาดกลัว         

      เกิดภาวะตื่นตัวสูง รู้สึกหวาดระแวงตลอดเวลา ส่งผลให้มีปัญหานอนหลับยาก ฝันร้ายบ่อยครั้ง (อาจฝันถึงเหตุการณ์ร้ายๆที่เคยพบเจอ) กระสับกระส่าย ตกใจง่ายกว่าปกติ อารมณ์ฉุนเฉียวโมโหง่าย เกิดอาการกลัวเกิดความเป็นจริง ในผู้ป่วยบางคนอาจหาที่สถานที่ปลอดภัย (Safe Zone) เช่น ห้องน้ำ ห้องนอน มุมห้อง รถ เพื่อหลบหนีสิ่งที่กำลังเผชิญอยู่

ปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะ PTSD

การเลี้ยงดูภายในครอบครัวและสภาพแวดล้อม ในตอนเด็กอาจถูกปลูกฝังให้หวาดกลัวต่อหลายๆสิ่ง พ่อแม่หรือคนในครอบครัวส่วนใหญ่มักกังวลกับการเลี้ยงดูลูกให้เติบโตมาอย่างมีคุณภาพ กังวลกับสิ่งต่างๆรอบตัวที่ลูกต้องพบเจอ กลัวว่าลูกอาจพบเจอหรือทำอะไรที่เสี่ยงอันตราย จึงสั่งสอนให้กลัวและระวังตัว หากเกิดการสั่งสอนที่ดี ให้ข้อคิดและวิธีการจัดการกับปัญหา เด็กจะสามารถจัดการตัวเองได้ แต่โดยส่วนใหญ่มักไม่ได้บอกให้ลูกต้องทำอย่างไร เด็กจึงเกิดการฝังใจ ทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับการจัดการความเครียดของตัวเอง ไม่สามารถควบคุมหรือรับมือสถานการณ์บางอย่างได้ตัวเองได้ อาจมีปฏิสัมพันธ์ที่ไม่ดีต่อการเข้าสังคม มีความเสี่ยงที่เกิดภาวะ PTSD ได้จากความผิดพลาด หรือความเข้าใจผิดของตนเอง

ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า/วิตกกังวล ผู้ป่วยทางจิตมีโอกาสเสี่ยงสูงที่เกิดภาวะ PTSD เพราะพื้นฐานเดิมของการเกิดโรคซึมเศร้ามาจากการพบเจอเหตุการณ์ร้ายที่กระทบต่อจิตใจ หากต้องเผชิญกับสิ่งที่หวาดกลัวหรือเรื่องสะเทือนใจที่ทำให้นึกย้อนไปถึงเหตุการณ์นั้นๆ ภาวะ PTSD ก็จะเกิดขึ้นตามมา

พบเจอเหตุการณ์สะเทือนใจ แม้ว่าเหตุการณ์นั้นจะเพิ่งเกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นมานานแล้วก็ตามแต่เป็นเหตุการณ์ที่รุนแรงมากๆและกระทบต่อจิตใจจนยากจะลืมเลือน สิ่งนี้ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะ PTSD ได้

การรักษา PTSD

- ควรได้รับการรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางและมีคนคอยดูแลอย่างใกล้ชิด

- สนับสนุนผู้ป่วยช่วยให้เขารู้สึกปลอดภัยยิ่งขึ้นทั้งสภาพจิตใจ ร่างกายและสภาพแวดล้อม หากิจกรรมสนุกๆทำร่วมกัน ออกไปท่องเที่ยวพักผ่อน สนับสนุนให้กำลังใจเขาให้กลับไปทำสิ่งที่ชอบ

- พูดชื่นชม ขอบคุณ และให้กำลังใจในแง่บวก อาจชื่นชมในเรื่องเล็กๆน้อยๆ อย่างเช่น วันนี้แต่งตัวสวยจัง ชอบอาหารที่ทำให้กินมากเลย วันนี้เธอทำได้ดีเลยนะ เก่งมากๆ เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกเห็นคุณค่าในตัวเองมากขึ้น

- ให้ความรู้เกี่ยวกับอาการ PTSD และแนะนำวิธีการเผชิญหน้ากับสิ่งที่หวาดกลัว

- สร้างความเชื่อมั่น และเพิ่มแรงจูงใจในการรักษา



ที่มา : RAMA CHANNEL คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี



 

X