“การเรียนการสอนแบบ Online” ทำอย่างไร ให้สุขภาพดีทั้งกายและใจ

14 กรกฎาคม 2564, 14:51น.


            ปัจจุบันด้วยสถานการณ์แพร่ระบาด COVID – 19 ยังคงมีความรุนแรงอยู่อย่างต่อเนื่อง ส่งผลการะทบรอบด้าน และหนึ่งในนั้นก็คือด้านการเรียนการสอนของคุณครูและนักเรียนในทุกๆ ระดับชั้น ที่จะต้องทำที่บ้านผ่าน Online แน่นอนว่าอาจสร้างความเครียด กังวลกับทุกคนได้ทั้งสิ้น แล้วเราจะเรียน – สอน Online อย่างไรให้สุขภาพดี? ศบค.ศธ. ร่วมกับกรมสุขภาพจิตจะเป็นผู้ออกมาอธิบายสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง เมื่อสุขภาพกายและสุขภาพต่างก็สำคัญ

            ปัญหาและแนวทางแก้ไขเมื่อต้องมีการเรียนการสอนออนไลน์


             - นักเรียนบางคนไม่มีอุปกรณ์การเรียนที่พร้อมเท่าที่ควร ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของผู้ปกครอง ไม่ว่าจะ อุปกรณ์การเรียน เช่น แท็ปเล็ต โน๊ตบุ้ก คอมพิวเตอร์ หรือค่าไฟ้ฟ้า

            - คุณครูก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนการเรียนการสอน ต้องเพิ่มกิจกรรมให้ผู้เรียนเข้าถึงมากขึ้น กลายเป็นว่ามีภาระหน้าที่เพิ่มขึ้น

            - พฤติกรรมการทำงานที่เดิมทีตื่นเช้าออกจากบ้าน แต่ขณะนี้ต้อง Work From Home ตื่นแล้วเปิดโน้ตบุ๊ค เปิดคอมพิวเตอร์ทำงานเลย เป็นวงจรที่จำเจ ซึ่งอาจมีความเครียดเพิ่มขึ้นได้

            ในส่วนของแนวทางรับมือแก้ไขปัญหานั้นจะเน้นเรื่องตัวชี้วัดของเด็กนักเรียนแทน รองลงมาคือการเติมเต็มช่วงเวลาที่เหลือ ทำให้การวัดผลเปลี่ยนแปลงไป มีการบูรณาการการบ้านให้นักเรียน เช่น โจทย์ 1 ข้ออาจต้องใช้ความรู้หลายวิชามารวมกันทำให้มีจำนวนโจทย์น้อยลง แต่จะใช้การอ่าน วิธีการ รวมถึงการสร้างสรรค์ที่มากขึ้น

            เมื่อการเรียนการสอนมีความเครียดจะจัดการอย่างไร?

            - ใช้สื่อ HERO Program เพื่อเฝ้าระวังปัญหาทางอารมณ์ของเด็กในระหว่างที่เรียน
โดยจะมีข้อสังเกต 9 ข้อหลักมาทำการประเมินและบันทึกรู้ ได้แก่ ซนเกินไป, ใจลอย, รอคอยไม่เป็น, เศร้า/เครียด หงุดหงิดง่าย, ท้อแท้ เบื่อหน่าย, ไม่อยากไปโรงเรียน, ถูกเพื่อนแกล้ง, แกล้งเพื่อน และไม่มีเพื่อน ซึ่งคุณครูก็สามารถเรียนรู้คู่มือผ่านออนไลน์นี้ รู้เบื้องต้นว่าเด็กที่อยู่ในความดูแลส่งสัญญาณความเครียดอย่างไร แล้วคุณครูจะทำอะไรได้บ้าง ทั้งนี้ โปรแกรมจะแนะนำวิธีการช่วยเหลือให้เลยด้วย

            - คุณครูมีการปรับตารางเวลา โดยที่บ้านกลายเป็นพื้นที่การทำงานจึงต้องปรับใหม่ให้มีสัดส่วน มีพื้นที่ ที่สำคัญแบ่งเวลาในเรื่องอื่นๆ ให้มีเวลาส่วนตัวด้วย ไม่ใช่ทำแต่งานตลอดเวลา และไม่ลืมความสัมพันธ์กับคนรอบตัว เพื่อน ครอบครัว หรือแม้แต่นักเรียน

            - คุณครูมีการปรับรูปแบบการสอนเพื่อให้เด็กเกิดความสนใจ เพลิดเพลินไปกับช่วงเวลาเรียน 1 ชม. ได้ เช่น ร้องเพลงท่องจำเนื้อหาการสอน แต่งตัวให้เข้ากับบทเรียน เป็นต้น

            กรณีเด็กมีปัญหาอุปกรณ์การเรียนไม่พร้อม อยู่กันหลายคนในครอบครัวทำอย่างไร?

            ในกรณีที่บ้านหรือที่พักอาศัยไม่มีความพร้อม จริง ๆ แล้วสถานที่อย่างชุมชน หรือเทศบาลตำบลควรมีจุดช่วยเด็กๆ ได้ เช่น หอประชุมของ อบต. ที่มีจอโปรเจคเตอร์ใหญ่ และให้เด็กๆ นั่งห่างกันเรียนไปด้วยกัน หรือบ้านพักของกำนัน ผู้ใหญ่บ้านที่มีฐานะดีกว่าชาวบ้านทั่วไป เปิดให้เด็กๆ เข้ามาใช้ทีวีได้ โดยที่ทำตามมาตรการป้องกันโควิด – 19 พูดให้เข้าใจง่ายๆ ว่าการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ไม่ใช่แค่ตัวเด็ก หรือผู้ปกครองเท่านั้น ชุมชนหรือเทศบาลตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้านก็ควรเป็นส่วนหนึ่งได้

            อย่างไรก็ตาม ในการใช้งานสายตาผ่านหน้าจออิเล็กทรอนิกส์ควรหยุดพักสายตาบ้าง แนะนำให้ใช้กฎ 20 – 20 – 20 นั่นคือ ทุก 20 นาทีที่เรียนออนไลน์หรือสอนออนไลน์ให้พักสายตา 20 วินาที มองหาสิ่งที่อยู่ไกลออกไป 20 ฟุต ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการตาล้า ตาแห้งให้ลดน้อยลงได้ดี



 



ข้อมูล : ศบค.ศธ. ร่วมกับกรมสุขภาพจิต

 





 



 

X