ชาวเทพาจ.สงขลาหนุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ส่งจม.ถึงนายกรัฐมนตรี เร่งก่อสร้าง

21 ธันวาคม 2560, 15:58น.


การเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน อ.เทพา จ.สงขลา ยังคงมีความเคลื่อนไหวในส่วนของผู้สนับสนุน โดยเครือข่ายคนเทพาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วยกำนัน องค์การบริหารส่วนตำบลทั้ง 7 ตำบล ใน อ.เทพา จ.สงขลา และเครือข่ายภาคประชาชน 66 องค์กร รวมสมาชิกกว่า 5 หมื่นคน ได้รวมตัวกันประมาณ 3,000 คน นำโดย นายหลี สาเมาะ ประธานเครือข่ายฯ ยื่นหนังสือพร้อมเขียนความในใจของชาวเทพาลงบนป้ายผ้า มอบต่อนายสนอง จันทร์รักษ์ นายอำเภอเทพา เพื่อส่งต่อไปให้ถึงนายกรัฐมนตรี แสดงจุดยืนสนับสนุนการสร้างโรงไฟฟ้าเทพา





นายหลี สาเมาะ ประธานเครือข่ายคนเทพาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน  ย้ำว่า เครือข่ายได้ประชุมและมีมติร่วมกันอีกครั้งว่า จะสนับสนุนให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในอำเภอเทพา จึงมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ  คือ  ให้รัฐบาลฟังเสียงชาวเทพา ต้องให้คำมั่นเป็นสัญญาประชาคมว่าจะสนับสนุนการพัฒนาอำเภอเทพาในด้านต่างๆ โดยเฉพาะผู้ที่จะต้องโยกย้าย ต้องได้รับการดูแลอย่างเป็นธรรม มีความเป็นอยู่ที่ดีกว่าเดิม รวมทั้งศาสนสถานต่างๆ ต้องไม่ได้รับการกระทบกระเทือน หากจะมีการย้ายโรงเรียนปอเนาะ ต้องจัดพื้นที่ดีกว่าเดิมให้ เพื่อที่ลูกหลานของชาวเทพาจะได้เล่าเรียนทั้งด้านศาสนา และวิชาการอย่างมีคุณภาพ,เรียกร้องให้กลุ่ม NGO นอกพื้นที่ เคารพสิทธิของชาวเทพา ยุติการบิดเบือน ให้ข้อมูลที่ไม่เป็นจริงแก่สังคม ยุติสร้างความขัดแย้งในพื้นที่ คือทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของชาวเทพา และขอให้รัฐบาลตัดสินใจเรื่องโรงไฟฟ้าเทพาโดยเร็ว ภายใน 45 วัน โดยฟังเสียงอันแท้จริงของคนเทพา เพราะชาวเทพารอมา 4 ปี





ด้าน รศ.ดร.ภิญโญ มีชำนะ ประธานชมรมนักวิชาการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน กล่าวว่า NGO บางกลุ่ม ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการพัฒนาของรัฐ โดยใช้ข้อมูลที่ไม่ได้มีพื้นฐานทางวิชาการ มีการบิดเบือนข้อมูลหรือการนำเสนอข้อมูลด้านเดียว และไม่คำนึงถึงบริบทการพัฒนาของประเทศ ทำให้สังคมเกิดการเข้าใจผิด ซึ่งจะก่อให้เกิดผลเสียต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว ชมรมนักวิชาการฯ ขอยืนยันว่า การพัฒนาพลังงานของแต่ละประเทศมีบริบทที่แตกต่างกัน ไม่สามารถลอกโจทย์ของต่างประเทศมาได้ทั้งหมด  โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ที่ปัจจุบันมีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นทุกปีเฉลี่ยปีละ ร้อยละ 3-5 แต่กลับมีโรงไฟฟ้าที่พึ่งพาได้อย่างมั่นคง (Firm) ประมาณ 2,700 เมกะวัตต์ ในอนาคตจึงต้องมีกำลังผลิตจากโรงไฟฟ้าในพื้นที่เพิ่มเติม สำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนควรส่งเสริมให้เป็นโรงไฟฟ้าเสริม เพราะไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากจะทำให้ประชาชนแบกรับค่าไฟฟ้าแล้ว จะทำให้ประเทศไทยไม่สามารถแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้านได้



ข่าวทั้งหมด

X