การแก้ไขปัญหาชาวโรฮิงญาในเมียนมา รศ.ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยอมรับว่า การเข้าช่วยเหลือชาวโรฮิงญา ของรัฐบาลประเทศอื่นๆ ทำได้ยาก เนื่องจากมีความหวาดกลัวว่าหากประกาศให้ความช่วยเหลือชาวโรฮิงญาแล้ว ชาวโรฮิงญาจะกลับเข้ามาทำร้ายประเทศตัวเอง เพราะมีกระแสข่าวการแบ่งแยกดินแดน การครอบครองอาวุธต่างๆ โดยเฉพาะรัฐบาลของประเทศไทยที่มาจากรัฐบาลทหาร จะเน้นเรื่องความมั่นคงเป็นหลัก การประกาศให้ความช่วยเหลือของรัฐบาลไทยจึงทำได้ยาก การแสดงจุดยืนต้องระมัดระวัง
โดยปัญหาของชาวโรฮิงญาคล้ายกับปัญหาความขัดแย้งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่รัฐบาลเมียนมาไม่ต้องการให้ประเทศอื่นเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหา เช่นเดียวกับรัฐบาลไทย ที่ไม่ต้องการให้ประเทศอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งเป็นปัญหาภายใน ในอนาคตปัญหาชาวโรฮิงญา จะกลายมาเป็นปัญหาระดับภูมิภาค
ผศ.ดร. นฤมล ทับจุมพล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า เมียนมาควรเปิดให้หน่วยงานอื่นๆ เข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา ยอมรับข้อเสนอของนายโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ (UN) และประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน จะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมทั้งในด้านการช่วยเหลือและด้านมนุษยธรรม ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความสามารถในการเจรจาได้มากที่สุด แต่การเจรจาต้องไม่ใช่ในฐานะรัฐบาล แต่ควรเป็นในฐานะพี่น้อง และเริ่มต้นการเข้าช่วยเหลือทางด้านภาคประชาสังคม โดยให้แพทย์เข้าไปช่วยเหลือชาวโรฮิงญา และส่งเสริมพุทธแท้ ที่ไม่ใช่พุทธหัวรุนแรง ที่ถูกลดบทบาทจากกองทัพ ให้กลับมามีบทบาทในการชี้นำชาวพุทธให้มากขึ้นด้วย
นายธานินทร์ สาลาม จากศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า ขณะนี้มี NGO ของมาเลเซียเข้าไปช่วยเหลือชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่มากที่สุด ซึ่งบทบาทการเข้าไปช่วยเหลือ คือ เป็นชาวมุสลิมเหมือนกัน ส่วนตัวมองว่าการเข้าไปช่วยเหลือ ควรจะช่วยเหลือทั้งรัฐยะไข่ แบบไม่แบ่งเชื้อชาติ เนื่องจากรัฐยะไข่ มีความขัดสนในเรื่องเงิน การศึกษา ชีวิตความเป็นอยู่ สุขภาพ ทุกคนไม่ว่าจะเป็นมุสลิม พุทธ ฮินดู ประสบปัญหาเหล่านี้เหมือนกันหมด หากเข้าไปช่วยเหลือทั้งหมด จะสามารถทำงานได้ง่ายมากขึ้น
ดร. อณัส อมาตยกุล ภาควิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีความเห็นเช่นเดียวนายธานินทร์ และระบุเพิ่มเติมด้วยว่า องค์กรมนุษยธรรมของมุสลิม ควรจะทำงานร่วมกับองค์กรสากลด้วย และต้องเข้าใจปัญหาภายในของเมียนมา การแก้ปัญหาต้องมีวิธีการบริหารจัดการ หากองค์กรมุสลิมเข้าไปเพียงองค์เดียวจะลำบาก ประเทศมุสลิมที่มีความร่ำรวยควรจะเข้ามาลงทุนในเมียนมา และสร้างความเป็นมิตร ให้ความช่วยเหลือในเรื่องต่างๆ ทำธุรกิจร่วมกัน จะได้มีบทบาทในการให้ข้อเสนอแนะกับการแก้ไขปัญหา
ดร. อณัส มองว่าปัญหาความขัดแย้งทั้งหมดที่เกิดขึ้น เกิดจากมุมมองทัศนะคติของเมียนมา ที่คล้ายกับมุมมองของเยอรมันที่มีต่อชาวยิว หากเมียนมาไม่ปรับเปลี่ยนมุมมอง จะทำให้เหตุการณ์บานปลายขึ้น ชาวพุทธในเมียนมา ต้องมีดุลยภาพทางธรรมะ และปลูกฝังความเป็นพุทธแท้ที่ไม่เบียดเบียนคนอื่นด้วย นักบวชควรปล่อยวางทางโลก ไม่ใช่เข้ามามีบทบาทเป็นฝ่ายความมั่นคง หากปล่อยให้ปัญหานี้บานปลาย ความเป็นพุทธจะเสื่อมลง ชาวโรฮิงญาอาศัยอยู่ในเมียนมามากว่า 200 ปี ควรได้รับสัญชาติ ได้รับสวัสดิการจากภาครัฐ เหมือนกับชาวมอญ ชาวจีน ชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทย และได้รับสัญชาติ มีความผสานกลมกลืน แม้จะแตกต่างแต่ก็อยู่ร่วมกันในสังคมไทยได้
ขณะเดียวกันประเทศไทยจะต้องศึกษาประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมาให้มากขึ้น จะได้มองเห็นวิธีการแก้ไขปัญหาร่วมกันกว้างขึ้น เนื่องจากความขัดแย้งของชาวโรฮิงญา ไม่ใช่ปัญหาไกลตัวเลย สำหรับการเสวนา มีชาวโรฮิงญาที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย เข้าร่วมฟังเสวนาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้วย นายมูฮัมมัด รอฟิก ชาวโรฮิงญาที่เข้ามาอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครนานกว่า 28 ปี เปิดเผยว่า ปัญหาความขัดแย้งในรัฐยะไข่เกิดขึ้นมากว่า 70 ปีแล้ว ในอดีตชาวโรฮิงญาที่อยู่ในรัฐยะไข่ไม่ได้ยากจน ตัวเองและคนอื่นๆ ที่ลี้ภัยไปต่างประเทศมีฐานะร่ำรวยมาก ได้รับสิทธิ เสรีภาพต่างๆ มากมาย แต่ภายหลังมีปัญหากับทางรัฐบาล มีการกลั่นแกล้ง เผาไล่ที่ดินทำกิน และเข้ายึดบ้านเรือนต่างๆ คนที่เคยรวย มีข้าวสารเป็นโกดัง กลับกลายมาเป็นผู้ลี้ภัยอดอยาก ตัวเองต้องละทิ้งเงินทอง ทรัพย์สินทั้งหมดหลบหนีออกมา ไม่เหลืออะไรเลย และมีครอบครัวบางส่วนของตัวเองยังอยู่ในรัฐยะไข่ด้วย จากที่ติดต่อ สอบถาม ก็พบว่าสถานการณ์ขณะนี้เลวร้ายลง มีการจำกัดขอบเขตพื้นที่ในการพักอาศัย
โดยปัญหารุนแรงขึ้นในปี ค.ศ. 2012 มีผู้อพยพนับแสน เด็กเสียชีวิตระหว่างการลี้ภัย รัฐบาลเมียนมาพยายามที่จะใส่ร้ายชาวโรฮิงญาว่าเป็นกลุ่มติดอาวุธ ต้องการแบ่งแยกดินแดน และสร้างสถานการณ์ว่าชาวโรฮิงญาเป็นหัวรุนแรง แต่ตัวเองยืนยันว่าไม่เป็นความจริง กลุ่มคนที่ก่อเหตุรุนแรงอาจจะได้รับการสนับสนุนอาวุธจากรัฐบาลเมียนมาให้สร้างสถานการณ์ต่างๆ ขึ้นมา เพื่อไล่ชาวโรฮิงญาออกจากพื้นที่ เนื่องจากรัฐยะไข่มีทรัพยากรน้ำมันและป่าไม้ จำนวนมาก ได้รับความสนใจจากต่างประเทศที่ต้องการมาลงทุน อาทิ อินเดีย จีน ฯลฯ จึงขอเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ เข้าไปช่วยเหลือและกดดันรัฐบาลให้แก้ปัญหาโดยเร็ว
ผสข.:ปภาดา พูลสุข