เตือนพิษร้าย! กรมทรัพยากรทางทะเลฯ ระบุ คลื่นซัดทากมังกรทะเล ขึ้นฝั่ง ที่หาดกะรน ภูเก็ต

11 กรกฎาคม 2568, 14:26น.


        กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เตือนประชาชนห้ามสัมผัส ทากทะเลสีน้ำเงิน ตามที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน (ศวอบ.) ได้รับข้อมูลผ่านทางสื่อออนไลน์เฟสบุ๊ค เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2568 เวลาประมาณ 19.00 น. ว่าพบทากทะเลสีน้ำเงิน หรือ มังกรทะเลสีน้ำเงิน (Blue Dragon) ถูกคลื่นซัดเข้าบริเวณหาดกะรน จังหวัดภูเก็ต คลื่นลมแรง (คลื่นสูงประมาณ 1-2 ม.) เบื้องต้นลงพื้นที่ตรวจสอบ วันที่ 10-11 ก.ค. 68 พบว่า เป็นทากทะเลสีน้ำเงินที่มีพิษชนิด Glaucus sp. ขนาดประมาณ 0.5 ซม. โดยพิษมาจากการเก็บสะสมเข็มพิษจากเหยื่อที่กินเข้าไป ไม่สามารถผลิตเข็มพิษได้ด้วยตัวเอง





          พร้อมกันนี้ยังพบ แมงกะพรุนกะลาสี (Velella velella) และแมงกะพรุนแว่นตาพระอินทร์ (Porpita porpita) ซึ่งเป็นอาหารของทากทะเลสีน้ำเงินร่วมด้วย ฉะนั้นหากสัมผัสทากทะเลสีน้ำเงิน จะรู้สึกเจ็บปวด จึงไม่แนะนำให้จับเล่น หากสัมผัสแนะนำให้ใช้น้ำส้มสายชูเช่นเดียวกับการปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหรับสัมผัสแมงกะพรุนพิษ



          นอกจากนี้ขอให้ประชาชน ผู้ประกอบการ และนักท่องเที่ยวในพื้นที่ระมัดระวังการพบเจอ แมงกะพรุนหัวขวด (Bluebottle Jellyfish) ชนิด Physalia sp. หนึ่งในอาหารของทากทะเลสีน้ำเงินที่มีพิษ โดยสถิติมักพบแมงกะพรุนกลุ่มนี้หลังจากการพบเจอทากทะเลสีน้ำเงิน





         ก่อนหน้านี้ เพจฉุกเฉินการแพทย์รายงานว่า ได้รับแจ้งจากประชาชนหาดกะรน จ.ภูเก็ต พบ Blue Dragon บริเวณหาดกะรน จากการตรวจสอบข้อมูลทางวิชาการที่มีการเผยแพร่กัน พบว่า Blue Dragon เป็นชื่อของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ใต้น้ำทะเลชนิดหนึ่ง โดยเป็นทากทะเลประเภทหนึ่ง มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Glaucus Atlanticus หรือรู้จักในอีกชื่อหนึ่งว่า Blue Ocean Slug โดย Blue Dragon ถูกจัดอยู่ในประเภทสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง พบได้ตามมหาสมุทรและชายฝั่งน้ำอุ่นแถบประเทศออสเตรเลีย แอฟริกาใต้ และยุโรป มีรูปร่างคล้ายมังกรหกปีกพร้อมลายสีน้ำเงินสดสะดุดตา โดยลำตัวจะโตยาวสุดแค่ 1-1.5 นิ้วเท่านั้น มีนิสัยดุร้ายพร้อมโจมตีเหยื่อและผู้บุกรุกด้วยพิษสุดร้ายแรงที่จะเข้าไปทำลายระบบประสาทการทำงานของหัวใจและเซลล์ผิวหนัง



- บลูดราก้อน (Blue Dragon) หรือมังกรทะเลสีน้ำเงิน มีพิษและเป็นอันตราย ห้ามจับเด็ดขาด. ถึงแม้จะมีขนาดเล็กและสีสันสวยงาม แต่พิษของมันสามารถทำให้เกิดอาการระคายเคืองอย่างรุนแรงหากสัมผัสกับผิวหนัง. พิษของมันมีฤทธิ์คล้ายกับแมงกะพรุนไฟหมวกโปรตุเกส



- พิษร้ายแรง:



บลูดราก้อนไม่ได้ผลิตพิษเอง แต่เก็บสะสมพิษจากสัตว์ที่มันกิน เช่น แมงกะพรุนพิษ.



- อาการเมื่อโดนพิษ:



หากโดนพิษของบลูดราก้อน อาจมีอาการปวดแสบปวดร้อน คลื่นไส้ อาเจียน หรือปวดศีรษะอย่างหนัก.



- อันตรายถึงชีวิต:



สำหรับผู้ที่แพ้พิษ อาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้.



- ข้อควรระวัง:



หากพบเห็นบลูดราก้อนบนชายหาดหรือในทะเล ห้ามเข้าใกล้หรือสัมผัสเด็ดขาด.



- การปฐมพยาบาลเบื้องต้น:



หากถูกพิษ สามารถใช้น้ำส้มสายชูล้างบริเวณที่ถูกพิษ เพื่อบรรเทาอาการ.



          เพจ ขยะมรสุม ᴍᴏɴsᴏᴏɴɢᴀʀʙᴀɢᴇ ᴛʜᴀɪʟᴀɴᴅ รายงานการพบทากทะเลมังกรฟ้า Blue Dragon Sea Slug ที่ชายฝั่งภูเก็ต ทากทะเล เป็นญาติของหอยฝาเดียว นักดำน้ำรู้จักดี แม้มีขนาดเล็กแต่สีสวย ถึงขั้นเป็นเป้าหมายในการเก็บแต้มของเหล่านักดำน้ำผู้นิยมสัตว์เล็ก ทากทะเลเป็นสัตว์พิสดาร บางชนิด สามารถกินสัตว์ที่มีเข็มพิษแล้วดึงเอาเซลล์เข็มพิษมาไว้ในตัวเพื่อป้องกันตัวเอง นักดำน้ำบางคนอาจเจอทากพวกนี้กำลังกินไฮดรอยด์ (ขนนกทะเล) โดยมีเข็มพิษอยู่ปลายเนื้อเยื่อที่ยื่นออกมาคล้าย “หนาม” ตามลำตัว



 



#มังกรฟ้า



#ทากทะเลมีพิษ



 

ข่าวทั้งหมด

X