กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เฝ้าติดตามสถานการณ์ไฟป่าอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณ 17 จังหวัดภาคเหนือ ซึ่งจากการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า ด้วยแบบจำลองระบบสารสนเทศ ระหว่างวันที่ 19-25 ก.พ.67 พบว่ามี 10 จังหวัดที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดไฟป่าคาดว่าสูงกว่า 1 ล้านไร่ ได้แก่พื้นที่จังหวัด ตาก ลำปาง เชียงใหม่ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ แม่ฮ่องสอน น่าน พิษณุโลก อุตรดิตถ์ และ กำแพงเพชร โดยส่วนใหญ่จะเกิดในเขตพื้นที่เกษตร พื้นที่เขต สปก. พื้นที่ป่าอนุรักษ์ และพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ สาเหตุอาจเกิดจากการจุดไฟเผาเพื่อหาของป่า หรือการเผาก่อนเตรียมการเพาะปลูก หรือการเผาหลังเก็บเกี่ยวผลผลิต เป็นต้น และจะส่งข้อมูลต่อให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปวางแผนเพื่อการจัดการเชื้อไฟ และจัดทำแนวกันไฟในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งจะช่วยลดความรุนแรงและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงเกิดไฟป่า เป็นการประเมินด้วยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์วิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลจุดความร้อนสะสม (ทั้งข้อมูล VIIRS และ MODIS) ข้อมูลพื้นที่เผาไหม้ย้อนหลัง ประเภทการใช้ที่ดิน และข้อมูลสภาพอากาศล่วงหน้า (อุณหภูมิ และความชื้น) ของแต่ละช่วงเวลา
หน่วยเฉพาะกิจราชมนู รายงานว่า เมื่อวันที่ 20 ก.พ.67 เวลา 14.30-17.00 น. ฉก.ราชมนู โดย ร้อย.ร.431 ฐานปฏิบัติการบ้านวังตะเคียน จัดกำลังพลพร้อมรถบรรทุกน้ำ ร่วมกับ เจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันรักษาป่า ตก.7 มิตรภาพ และเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) ท่าสายลวด เข้าดับไฟป่าในพื้นที่บ้านวังตะเคียนใต้ ม.7 ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก

ก่อนหน้านี้ ฉก.ราชมนู โดย บก.ควบคุม ฉก.ราชมนู (ร้อย.ร.422 และ ร้อย.ร.1433) ปฏิบัติภารกิจลาดตระเวนเฝ้าตรวจเพื่อป้องกัน และสกัดกั้นการกระทำผิดกฎหมายตามพื้นที่แนวชายแดน พร้อมทั้งบรูณาการแผนงานการป้องกัน และแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน และฝุ่นละออง (PM 2.5) โดย ลาดตระเวนเฝ้าตรวจ และสกัดกั้นการลักลอบเผาป่า บริเวณพื้นที่แนวชายแดน
ฉก.ราชมนู โดย บก.ควบคุม ฉก.ราชมนู (ร้อย.ร.422) ฐานปฏิบัติการอยู่ยืน บ.มอเกอร์ไทย จัดกำลังพลจิตอาสา ร่วมกับผู้นำหมู่บ้าน/ชุมชน โดยดำเนินการติดแผ่นป้ายไวนิล เพื่อประชาสัมพันธ์ และรณรงค์ห้ามเผาป่าโดยเด็ดขาด พร้อมแจกแผ่นผับ ที่บ้านมอเกอร์ไทย หมู่1 ต.วาเล่ย์ อ.พบพระ จ.ตาก เพื่อเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนในพื้นที่ เพื่อบูรณาการแผนงานการป้องกัน และแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน และฝุ่นละออง (PM 2.5) ภายในพื้นที่
#ไฟป่า
CR:ขอบคุณข้อมูล-ภาพ GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน),หน่วยเฉพาะกิจราชมนู