การลงพื้นที่ศึกษาดูงานการบริหารจัดการสถานีขนส่งสินค้า วันนี้ กรมการขนส่งทางบก เดินทางมาที่สถานีขนส่งสินค้าคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า กรมการขนส่งทางบก เห็นความสำคัญในการพัฒนาโครงข่ายการขนส่งสินค้าและมีแผนพัฒนาสถานีขนส่งสินค้า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพประเทศไทยให้เป็นผู้นำและเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ของอาเซียน ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของไทย สถานีขนส่งแต่ละแห่งจะทำหน้าที่เป็นจุดรวบรวมและกระจายสินค้า และเป็นจุดที่เชื่อมโยงโครงข่ายการขนส่งสินค้าทางถนน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ควบคู่กับการเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งสินค้า เชื่อมโยงฐานการผลิตและฐานการส่งออกที่สำคัญ รองรับการเปลี่ยนแปลงถ่ายรูปแบบการขนส่งระบบราง ประกอบด้วยแผนพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าในเมืองหลัก 8 แห่ง ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ นครสวรรค์ พิษณุโลก ขอนแก่น อุบลราชธานี นครราชสีมา ปราจีนบุรี สุราษฎร์ธานี ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งและกระจายสินค้าภายในประเทศอย่างเป็นระบบ รองรับการพัฒนาเส้นทางหลักระหว่างเมืองพร้อมเชื่อมต่อระบบการขนส่งทางรางและการขนส่งรูปแบบอื่น และมีการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าชายแดนอีก 11 แห่ง ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ที่จะช่วยรองรับพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษและเชื่อมระบบขนส่งผ่านแดนสู่ภูมิภาคอาเซียนตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งภายในสถานีขนส่งสินค้าแต่ละแห่ง จะมีสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งสินค้าต่างๆเช่น อาคารรวบรวมและกระจายสินค้า คลังสินค้า ลานกองเก็บตู้สินค้า ลานเปลี่ยนหัวลาก-หางพ่วง และพื้นที่เขตปลอดอากรด้วย
นอกจากนี้ ยังดำเนินการควบคู่กับการยกระดับเพิ่มประสิทธิภาพสถานีขนส่งสินค้าที่เปิดให้บริการแล้ว3แห่ง คือ บริเวณพุทธมณฑล คลองหลวง และร่มเกล้า รวมทั้งหมดขณะนี้ กรมการขนส่งทางบกมีสถานีขนส่งสินค้าด้วยกัน22แห่ง และจะเปิดให้บริการครบทุกสถานีขนส่งภายในปี 2566 โดยมีโครงการนำร่อง 2 แห่ง คือ ศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงราย ที่เริ่มก่อสร้างตั้งแต่เดือนมิถุนายน พร้อมเปิดให้บริการปี 2563 , ศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม ที่เริ่มก่อสร้างในปี 2562 พร้อมเปิดให้บริการในปี 2564 และขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการศึกษาและวิเคราะห์ให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนบริหารจัดการสถานีขนส่งสินค้าทั้ง 19 แห่งในรูปแบบ public private partnership
อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า ระบบการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ของประเทศไทยในช่วงหลายปีถือว่ามีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานและด้านการบริหารจัดการ อีกทั้งกรมการขนส่งทางบก ยังได้พัฒนาการขนส่งให้มีความมั่นใจ ปลอดภัยด้วยมาตรฐานQ Mark โดยจะเชื่อมต่อกับระบบGPS ที่จะควบคุมรถไม่ให้ออกนอกเส้นทาง ไม่วิ่งรถว่าง พนักงานขับรถไม่เอาเปรียบนายจ้าง ถือเป็นการลดต้นทุนให้นายจ้างและลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ด้วย
ผู้สื่อข่าว:ธนดา เฉลิมวันเพ็ญ