!-- AdAsia Headcode -->

ฤดูฝนระวัง 'ด้วงกระเบื้อง' บุกเข้าบ้าน เตือน! อย่าสัมผัสอาจทำให้เกิดผื่นแดง

07 กรกฎาคม 2563, 11:25น.


     ในช่วงฤดูฝนมักจะพบเห็นข่าวแมลง นับแสนตัวบุกเข้าไปอยู่ในบ้านเรือนของประชาชน และสร้างความเดือดร้อนให้กับเจ้าของบ้านอยู่เสมอนั่นก็คือ “ด้วงกระเบื้อง” จัดอยู่ในกลุ่มแมลงปีกแข็ง มีขนาดลำตัวยาว 6 - 8 มม. เป็นแมลงที่พบได้ทั่วโลกแต่จะพบมากในเขตร้อน รวมทั้งในประเทศไทย ด้วงชนิดนี้มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า อัลฟิโทเบียส ดิอะเพอรินัส (Alphitobius diaperinus) บินได้ไกลพอสมควร ชอบบินมาเล่นไฟในเวลากลางคืน กินอาหารได้หลากหลาย ทั้งเมล็ดพืช ผลิตภัณฑ์จากพืชที่ชื้นหรือขึ้นรา รวมทั้งวัตถุที่เน่าเปื่อย สามารถพบแมลงชนิดนี้เข้ามาอยู่ในที่อยู่อาศัยของคนได้โดยเฉพาะบริเวณบ้านหรือรอบๆ บ้านที่มีกองปุ๋ย มูลสัตว์ ปุ๋ยหมัก เศษไม้ผุพัง เป็นป่า หรือมีเล้าเป็ดเล้าไก่ แมลงชนิดนี้ไม่มีรายงานว่า เป็นพาหะนำโรคมาสู่คน




     แมลงชนิดนี้สามารถปล่อยสารจำพวก เบนโซควิโนน (Benzoquinones) ออกมาเพื่อป้องกันตัวเองจากศัตรู และเมื่อมีเป็นจำนวนมากก็อาจจะทำให้เป็นอันตรายต่อมนุษย์ได้ โดยทำให้เกิดผื่นแดง รวมทั้งทำให้เกิดอาการแพ้ ปวดศีรษะ จมูกอักเสบ เป็นต้น นอกจากนี้ถ้าแมลงมาสัมผัสตัวมนุษย์ อาจทำให้เกิดความรำคาญ ตามลำตัวและขาของแมลงซึ่งมีหนามแหลมอาจขีดข่วนตามผิวหนัง ผู้ที่แพ้ ก็จะมีอาการคัน บวมแดงหรือเป็นผื่นแพ้ได้ หากถูกแมลงขีดข่วนให้รีบล้างแผลให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำ ถ้ามีอาการคัน พยายามอย่าเกา ให้ทาด้วยยาคาลาไมน์ หรือถ้ามีการอักเสบให้ทาด้วยยาปฏิชีวนะประเภทครีม




การกำจัดด้วงกระเบื้อง


     - เตรียมน้ำละลายผงซักฟอกใส่ภาชนะนำไปวางไว้ใต้ดวงไฟนอกบ้าน เพื่อดักแมลงที่มาเล่นไฟให้จมน้ำตาย


     - ฉีดพ่นสารเคมีกำจัดแมลงตามบริเวณแหล่งเกาะพัก แหล่งเพาะพันธุ์นอกบ้าน เช่น บริเวณโพรงไม้ผุใต้กองไม้ชื้น หรือกองซากพืชทับถม รวมทั้งบริเวณกองมูลสัตว์หรือปุ๋ย โดยสารเคมีที่ใช้เป็นสารในกลุ่มไพรีทรอยด์ เช่น ไซฟลูทริน, เดลตามิทริน, ไซเพอร์เมทริน เป็นต้น




     อย่างไรก็ตามการใช้สารเคมีควรใช้ด้วยความระมัดระวัง เมื่อพ่นสารใหม่ๆ ไม่ควรให้คนหรือสัตว์เข้าในพื้นที่จนกว่าสารจะแห้งดี และสามารถพ่นซ้ำได้อีก ทั้งนี้ หากต้องการพ่นตามผนังอาคารบ้านเรือนเพื่อป้องกันไม่ให้แมลงมาเกาะ ควรเลือกใช้สารไซฟลูทริน แบบสูตรผงละลายน้ำหรือสูตรดับเบิลยูพี (WP) สารเคมีจะเกาะที่ฝาผนังได้ดี มีผลป้องกันได้ 6 เดือน


ที่มา : กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
X