!-- AdAsia Headcode -->

ม.มหิดล เตรียมต่อยอดพัฒนาวัคซีนภูมิแพ้ไรฝุ่นให้ผู้ป่วยใช้เองได้ที่บ้าน ลดเสี่ยงติด COVID-19

03 มิถุนายน 2563, 13:00น.


          โรคภูมิแพ้ เป็นโรคที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย แม้ยังไม่มีรายงานว่าผู้ป่วยโรคภูมิแพ้เสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัส Covid-19 แต่ก็ได้รับผลกระทบเนื่องจากมีมาตรการล็อกดาวน์ที่ทำให้ไม่สามารถไปพบแพทย์เพื่อติดตามการรักษาได้เหมือนก่อน Covid-19 ระบาด

         
จากความสำเร็จของการพัฒนาผลิตวัคซีนภูมิแพ้ไรฝุ่นครั้งแรกของอาเซียน โดย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนยาแล้ว จาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยภูมิแพ้ไรฝุ่นในวันนี้ดีขึ้น โดยเป็นการรักษาที่สาเหตุโดยตรง และผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการดูแลรักษาได้อย่างเท่าเทียมกัน

          รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์พงศกร ตันติลีปิกร รักษาการแทนผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการความร่วมมือการผลิตวัคซีนสำหรับโรคภูมิแพ้ กล่าวว่า "โรคภูมิแพ้" พบได้ร้อยละ 30-40 ของประชากรไทย ซึ่งเหมือนกับอุบัติการณ์ในต่างประเทศทั่วโลก และ "ไรฝุ่น" เป็นสารก่อภูมิแพ้ที่เป็นสาเหตุหลักของโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชีย และประเทศเขตร้อน





           ปัจจุบันยังไม่มีรายงานว่าผู้ป่วยโรคภูมิแพ้เสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัส Covid-19 ซึ่งอาการของผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ไรฝุ่นจะมีความแตกต่างจากผู้ป่วยโรค Covid-19 โดยผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ไรฝุ่นจะมีอาการคันจมูก คันตา คัดจมูก จาม และ น้ำมูกใสไหลเป็นอาการเด่น บางรายที่แพ้ไรฝุ่นมาเป็นระยะเวลาหนึ่งก็อาจจะมีอาการหืดจากหลอดลมหดตัวได้ แต่ผู้ป่วยภูมิแพ้ไรฝุ่นมักจะไม่มีอาการไข้เหมือนกับผู้ป่วย Covid-19 ที่ในบางรายพบอาการปอดอักเสบ ไอ หอบ และ ทางเดินหายใจล้มเหลวร่วมด้วย

          New Normal ของผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ไรฝุ่นต่อไปจะให้ความสำคัญต่อ "การป้องกันโรค" เท่าเทียมกับ "การรักษา" โดย รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์พงศกร ตันติลีปิกร ได้แนะนำหลักสำคัญในการให้ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ไรฝุ่นดูแลตัวเอง โดยเริ่มต้นจากการปรับสภาพแวดล้อมและที่อยู่อาศัยให้ปลอดฝุ่น และสารก่อภูมิแพ้ กรณีที่ยังมีอาการอยู่ควรได้รับการตรวจวินิจฉัยว่าแพ้จริงหรือไม่ และแพ้สารก่อภูมิแพ้ชนิดใด จากนั้นให้พิจารณาใช้ยา หรือวัคซีนภูมิแพ้ ตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อที่จะทำให้ภาวะภูมิแพ้ลดน้อยลง หรือหายไปได้ในที่สุด





           รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์พงศกร ตันติลีปิกร กล่าวต่อไปว่า ในอนาคตทีมวิจัยและพัฒนาวัคซีนภูมิแพ้ของมหาวิทยาลัยมหิดล จะต่อยอดผลสำเร็จจากการพัฒนาวัคซีนภูมิแพ้ สู่การพัฒนาวัคซีนชนิดอื่นๆ อาทิ วัคซีนสำหรับผู้ที่แพ้แมวและแพ้สุนัข วัคซีนสำหรับผู้ที่แพ้แมลงสาบ และวัคซีนสำหรับผู้ที่แพ้ละอองเรณูหญ้า และวัชพืช เป็นต้น

         
นอกจากนี้จะพัฒนาวัคซีนรุ่นใหม่ที่เป็นชนิดหยอดใต้ลิ้น และชนิดพ่นจมูก เพื่อมีความปลอดภัยสูงและสะดวกสำหรับผู้ป่วยภูมิแพ้ที่สามารถใช้วัคซีนด้วยตนเองที่บ้าน ลดความถี่ที่ต้องมารับวัคซีนแบบเดิมที่ต้องมารับการฉีดทุกเดือน และที่สำคัญจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัส Covid-19 จากการที่ผู้ป่วยจะต้องเดินทางออกนอกบ้านเพื่อมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาล





           ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร. แพทย์หญิงอัญชลี ตั้งตรงจิตร ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในทีมแพทย์ผู้ริเริ่มวิจัยและพัฒนาวัคซีนภูมิแพ้ไรฝุ่น กล่าวเสริมทิ้งท้ายว่า เป็นเวลากว่า 10 ปีที่ทีมวิจัยได้ร่วมแรงร่วมใจคิดค้นและพัฒนาวัคซีนภูมิแพ้ไรฝุ่นจนสามารถผลิตและได้รับการรับรองให้ใช้ในผู้ป่วยได้จริง ซึ่งที่ผ่านมาการรับประทานยาแก้แพ้เป็นเพียงแค่การควบคุมตามอาการ แต่ไม่ได้รักษาที่สาเหตุอย่างวัคซีนที่ทีมวิจัยเราได้คิดค้นขึ้น โดยเรามองถึงผลประโยชน์สูงสุดที่จะได้กับผู้ป่วยจริงๆ เป็นความภาคภูมิใจของคนไทย และวงการแพทย์ระดับโลก จากการที่เราสามารถผลิตวัคซีนใช้เองได้ภายในประเทศ และตอบโจทย์ที่ต้องการให้ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ไรฝุ่นไทยทุกคนเข้าถึงได้ในที่สุด





cr.
มหาวิทยาลัยมหิดล

X